Part 1

“ทุกวันนี้อาเซียน ขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคแห่งโอกาสและอนาคต” คุณสุทธิพรรณ นุชฉายา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร ซี อาเซียน (C asean) กล่าวในพิธีเปิดงาน OPEN-TEC: Unlock Your Business with Blockchain ณ C asean เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยบริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด โดยคุณสุทธิพรรณ ได้กล่าวถึงการที่ปี 2562 นับเป็นปีที่สำคัญสำหรับภูมิภาคอาเซียน ว่าด้วยเรื่องของความร่วมมือกันระหว่างผู้นำประเทศในอาเซียน ที่จะผลักดันนโยบายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในภูมิภาคร่วมกัน และด้วยประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการใช้ประโยชน์จากการผลักดันของภาครัฐในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“C asean พร้อมสนับสนุนทุก ๆ ความร่วมมือเพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นทางด้านศิลปะ วัฒนธรรม หรือด้านธุรกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุก ๆ องค์กรในภูมิภาคอาเซียน หลายท่านอาจจะตั้งคำถามว่าทำไมเราจะต้องให้ความสำคัญกับศิลปะและวัฒนธรรม ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมว่าศิลปะและวัฒนธรรมคือรากฐานที่สำคัญของเรา หากเราต้องการที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน เราจะต้องไม่ลืมที่จะทำความเข้าใจรากฐานที่ทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ได้ วันนี้จะเป็นอีกวันหนึ่งที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยี ประเทศไทย และภูมิภาคของเรา ”

ข้อมูลเชิงลึกด้านเทคโนโลยี จาก OPEN-TEC โดยคุณวลีพร สายะสิต

คุณวลีพร สายะสิต ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (TCCtech) ได้กล่าวถึงโครงการ OPEN-TEC ที่ก่อตั้งโดย TCC Technology ด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้และยกระดับดิจิทัลภายในองค์กร รวมถึงเผยแพร่สู่ภายนอกเพื่อสร้างให้เกิดเป็นสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable Community)

หัวข้อสนทนาในวันนี้คือเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมาเปลี่ยนโลก นั่นคือ Blockchain อ้างถึงข้อมูลจาก ICORA เผยว่าองค์กรใหญ่ๆ หลายองค์กรในประเทศไทยได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวเพื่อตอบรับเทคโนโลยี Blockchain มากยิ่งขึ้นโดยการนำ Blockchain มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตัวเอง ทั้งนี้หากคุณไม่ได้อยู่ในวงการธุรกิจเทคโนโลยี คุณอาจมีข้อสงสัยว่า Blockchain เกี่ยวข้องกับคุณอย่างไร คุณวลีพรยกตัวอย่างกรณีของเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเมื่อหลายสิบปีก่อน เมื่อเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตได้ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงแรก หลายคนไม่คาดคิดว่าอินเตอร์เน็ตจะกลายมาเป็นเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลต่อชีวิตของเรามากขนาดนี้ แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป อินเตอร์เน็ตเริ่มแทรกซึมเข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นศูนย์กลางของการใช้ชีวิตของเราอย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ และนี่คือสิ่งที่นักวิชาการหลายสำนักคาดว่าจะเกิดขึ้นกับเทคโนโลยี Blockchain

อ้างถึงข้อมูลจากคุณ กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังที่ได้จากการอบรมในหลักสูตร Crypto Asset Revolution #1 ได้เคยกล่าวถึงเทคโนโลยี Blockchain และ Cryptocurrency ว่าจัดอยู่ใน 5 อันดับเทคโนโลยีที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคนี้ ซึ่งได้แก่ 1. Machine Learning 2. Chatbot 3. Blockchain 4. Internet of Things 5. Cryptocurrencies โดยคุณวลีพรได้เล่าถึงเรื่องราวของเทคโนโลยี Cryptocurrency  ICO และ Blockchain ตามลำดับดังนี้

เรื่องที่ 1: Cryptocurrenty

Cryptocurrency เป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนช่องทางหนึ่งในโลกออนไลน์ และหลายคนเชื่อว่า Cryptocurrency เป็นหนทางไปสู่การแลกเปลี่ยนอย่างไร้พรหมแดน และจะนำไปสู่โอกาสใหม่ ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ตามในช่วงปีที่ผ่านมา มีข่าวเชิงลบเกี่ยวกับ Cryptocurrency ออกมามากมาย ทั้งคดีแชร์ลูกโซ่ คดีช่อโกง และการถูกแฮ็กข้อมูล ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเรื่องความน่าเชื่อถือของ Cryptocurrency ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency เป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันยังมีหลายคนที่เชื่อว่า Cryptocurrency จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญในโลกของวงการการเงินจากแรงขับเคลื่อนและสาเหตุที่ทำให้ Cryptocurrency ยังคงเป็นที่นิยม 4 ข้อดังต่อไปนี้:

ถึงแม้ว่าหลายคนจะเข้าใจผิดว่า Blockchain คือ Bitcoin แต่ในความเป็นจริงแล้ว Blockchain ไม่ใช่ Bitcoin เพียงแค่ Bitcoin เป็นหนึ่งในสกุลเงิน Cryptocurrency ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain นอกจากนี้คุณวลีพรได้กล่าวว่ายังมี Cryptocurrency สกุลอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น Ethereum หรือ Litecoin

โดยช่องทางการหา Cryptocurrency ทำได้โดยเป็นผู้ซื้อขาย (Crypto trading) หรือผู้ขุดหา (Crypto mining) ปัจจุบันมีตู้ ATM Cryptocurrency มากถึง 4 พันเครื่องทั่วโลก โดยเราจะเห็นได้ว่า Cryptocurrency เริ่มเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้น บริษัทใหญ่ ๆ หลายบริษัทเริ่มเปิดให้มีการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นสกุลเงิน Cryptocurrency ในขณะเดียวกัน และการขุดหา Cryptocurrency นั้นจำเป็นที่จะต้องใช้กำลังในการประมวลผลที่สูงมาก

สำหรับภาพรวมของ Cryptocurrency ในประเทศไทย มีผู้กำกับดูแลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่หลายภาคส่วน ตั้งแต่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสรรพากร และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในปีที่ผ่านมาได้มีการร่างพระราชกำหนดที่เกี่ยวข้องกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Assets)” ซึ่งประกอบไปด้วย Cryptocurrency และ ดิจิทัลโทเคน (Digital Token) ความแตกต่างกันระหว่าง Cryptocurrency และดิจิทัลโทเคนคือ Cryptocurrency เป็นสื่อกลางในการทำการแลกเปลี่ยน ในขณะที่ดิจิทัลโทเคนมีหลายประเภท เช่น 1. โทเคนที่ออกโดย process ของ ICO หรือ 2. Utility Token ซึ่งระบุสิทธิ์ในการใช้สินค้าและบริการ หรือ 3. Investment Token ซึ่งระบุตัวสิทธิ์ในการลงทุน

ภาพรวมของสถานการณ์ Cryptocurrency ในโลกปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าถึงแม้ว่า Cryptocurrency จะเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา แคนาดา ขณะที่บางประเทศ เช่น จีน สถานะทางกฎหมาย Cryptocurrency ยังคงไม่เป็นที่ยอมรับ

เครดิตภาพ: https://media.ibinex.com/docs/Global_Cryptocurrency_Market_Report_2018.pdf?fbclid=IwAR2ZXoFjZDxELqu9Ncrfu9wJa3lBkjwXISQMax7oSn-391szHnTk_z6lcUU

เรื่องที่ 2: Initial Coin Offering (ICO)

Initial Coin Offering หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า ICO เป็นรูปแบบหนึ่งของการระดมทุน  ICO เป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้เพื่อสร้างช่องทางในการระดมทุนจากมวลชนโดยการใช้สกุลเงินดิจิทัล  ICO เป็นช่องทางในการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการซื้อสิทธิในการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านการซื้อโทเคน โดยการใช้ระบบที่มีความปลอดภัยและความโปร่งใสสูงอย่างเทคโนโลยี Blockchain

เรื่องที่ 3: Blockchain

คุณวลีพรเรียก Blockchain ว่า “Super Girl” โดยหากเราย้อนมองดูระบบการทำงานของเราในยุคปัจจุบัน จะเห็นว่าโดยส่วนใหญ่แล้วเราจะคุ้นเคยกับระบบศูนย์กลาง (Centralized System) โดยการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ จะต้องผ่านระบบศูนย์กลางที่น่าเชื่อถือ แต่เทคโนโลยี Blockchain กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานของการบันทึกข้อมูลในปัจจุบัน ให้เป็นการบันทึกข้อมูลผ่านการกระจายฐานข้อมูล (Distributed Ledger) เพื่อเพิ่มความโปร่งใสในการเข้าถึงข้อมูลและเป็นการลดบทบาทอำนาจของการควบคุมโดยระบบส่วนกลาง

เครดิตภาพ: https://www.lpea.lu/

Blockchain นั้นนับเป็นยุคที่ 5 ของกระบวนทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์  (Disruptive Computing Paradigm) ต่อจากยุคของ Mainframe สู่ PC สู่ Internet สู่ Social Media และ Blockchain หากเปรียบเทียบกันระหว่างระบบอินเตอร์เน็ตยุคปัจจุบันที่ทำงานบนระบบ TCP/IP ซึ่งถือเป็นขั้นแรกของอินเตอร์เน็ต (First Layer Internet) นับได้ว่า Blockchain ขั้นที่ 2 ของอินเตอร์เน็ต (Second Layer Internet) ขั้นแรกของอินเตอร์เน็ตจะเป็นเรื่องของการส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็ว (Internet of Information) ในขณะที่ Blockchain ได้เข้ามามีบทบาทในการเปิดช่องทางการแลกเปลี่ยน “คุณค่า” ในรูปแบบอื่น ๆ ได้มากขึ้น (Internet of Value)

เครดิตภาพ: https://www.evry.com/globalassets/insight/bank2020/bank-2020—blockchain-powering-the-internet-of-value—whitepaper.pdf

Internet VS Blockchain

เครดิตภาพ: Crypto Asset Revolution Class

ด้วยโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นจากการสร้างช่องทางใหม่ในการแลกเปลี่ยน “คุณค่า” จึงทำให้มีผู้เล่นรายใหญ่เริ่มให้ความสนใจกับเทคโนโลยี Blockchain มากยิ่งขึ้น Ant Financial บริษัทลูกของ Alibaba Group ในประเทศจีนเป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกได้เริ่มเข้าสู่สนามของธุรกิจ Blockchain แม้ว่าประเทศจีนจะแบน Cryptocurrency ก็ตาม ในขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ของโลก อาทิเช่น IBM, Microsoft, Amazon, Facebook, Google ได้เข้าสู่วงการธุรกิจ Blockchain แล้วเช่นเดียวกันสำหรับประเทศไทยเองเริ่มมีตัวอย่างการใช้งาน Blockchain ให้เห็นในองค์กรใหญ่ โดยเฉพาะในวงการการเงินและการธนาคาร ภายใต้ชื่อโครงการอินทนนท์ ที่นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยและยังมีความร่วมมือในการจัดตั้งกลุ่ม Blockchain Community Initiative ในประเทศไทยและสำหรับกิจกรรม Unlock Your Business with Blockchain โดย OPEN-TEC ในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้นำทางความคิดในวงการ Blockchain ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้

เวทีสนทนาว่าด้วยเรื่อง ICO และ Blockchain โดย OPEN-TEC ร่วมกับ ICORA และ Bitkub

สำหรับแขกรับเชิญของเวทีสนทนาในครั้งนี้ได้แก่ ผศ.ดร. การดี เลียวไพโรจน์ CEOและผู้ร่วมก่อตั้ง ICORA และ คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง Bitkub  หนึ่งในสตาร์ทอัพ Blockchain ระดับต้น ๆ ของประเทศไทย

ที่มาที่ไปของบริษัทของคุณ และประสบการณ์แรกของคุณเกี่ยวกับ Blockchain

“ผมได้ยินเกี่ยวกับ Bitcoin ที่เซี่ยงไฮ้ครั้งแรกตอนที่ผมเพิ่งเรียนจบ ตอนนั้นได้อ่านบทความของ Marc Andreessen มันคือจุดเริ่มต้นของความสนใจด้าน Blockchain ของผม จนทำให้ผมกลับมาตั้งบริษัทเกี่ยวกับ Bitcoin ครั้งแรกที่ประเทศไทย” คุณจิรายุสกล่าว ในช่วงที่คุณจิรายุสเริ่มก่อตั้งบริษัทด้าน Bitcoin ครั้งแรก เป็นช่วงยุคแรกเริ่มของ Cryptocurrency ในประเทศไทย ซึ่งในตอนนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยได้เกิดความตระหนักถึงความเสี่ยงของ Bitcoin จึงเริ่มออกจดหมายเตือนประชาชนถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดการฉ้อโกงจากธุรกิจแชร์ลูกโซ่ และความเสี่ยงด้านอื่น ๆ จึงเป็นผลทำให้นักลงทุนหลายคนไม่กล้าที่จะหันมาลงทุนในช่องทาง Cryptocurrency คุณจิรายุสได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่าที่จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจตัวแรกของเขาผ่านวิกฤตหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งสามารถหาทางออกและผ่านพ้นมาได้ด้วยดี สำหรับ Bitkub เป็นธุรกิจตัวใหม่ในการให้บริการ marketplace สำหรับทำการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล และเป็นหนึ่งในไม่กี่บริษัทที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการคลัง โดยเพิ่งได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจ Blockchain อย่างเป็นทางการเมื่อไม่นานมานี้

ผศ.ดร. การดี เลียวไพโรจน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ICORA และ อดีตกรรมการผู้จัดการ C asean ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานด้านการวิเคราะห์ธุรกิจในอนาคต และผลพวงจากการทำงานวิจัยของเธอเป็นที่มาของการจัดตั้งบริษัท ICORA  ผศ.ดร. การดีมีความเชื่อว่าโลกเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และ Blockchain จะเป็นศูนย์กลางของการเปลี่ยนแปลงนั้น “ก่อนหน้านี้ดิฉันได้อ่านหนังสือ [Blockchain Revolution] และเริ่มสนใจ Blockchain และหลักการกระจายมูลค่าแบบ P2P (Peer to Peer) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลังจากที่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อน ๆ จากฮาร์วาร์ด ดิฉันก็พบว่า ICO จะเป็นช่องทางใหม่สำหรับนักลงทุนและ VC (Venture Capitalist) เป้าหมายหนึ่งในชีวิตของดิฉันคือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์และส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ดังนั้นดิฉันจึงได้พบแรงบันดาลใจในการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่”

ICO แตกต่างจากการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์หรือ IPO อย่างไร

“หากให้ดิฉันตอบคำถามนี้เมื่อ 1 ปีที่แล้ว คำตอบอาจจะแตกต่างออกไป” ผศ.ดร. การดีกล่าวและอธิบายต่อไปว่า ICO ไม่ใช่สิ่งที่จะมาแทนที่ IPO ได้ ในตรงกันข้าม ICO จะมาช่วยส่งเสริมกระบวนการของ IPO หากจะเปรียบเทียบถึงข้อแตกต่าง IPO หรือ Initial Public Offering คือการแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ หรือการแลกเปลี่ยนหุ้นของบริษัทนั้น ๆ ในขณะที่ ICO เป็นการแลกเปลี่ยนสิทธิ์ในการสร้างธุรกิจนั้น ๆ โดยมากแล้ว ICO จะเข้ามามีบทบาทในช่วงเริ่มต้นของธุรกิจ ซึ่งห่างไกลจากจุดที่จะเข้าสู่กระบวนการ IPO อยู่มาก ICO เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพในการระดมทุนเพื่อเริ่มสร้างธุรกิจโดยที่เจ้าของธุรกิจจะไม่สูญเสียการครอบครองหุ้นในส่วนของตัวเอง ในทางกลับกันสิ่งที่นักลงทุนผ่าน ICO จะได้รับคือสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมสร้างธุรกิจธุรกิจหนึ่งขึ้นมา แทนที่จะเป็นการซื้อหุ้นของธุรกิจนั้น ๆ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘Investment Participation’ ปัจจุบันการลงทุนผ่าน ICO จะใช้ Cryptocurrency เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งนั่นหมายความว่าที่มาของเงินทุนไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตของประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สามารถเข้ามาได้จากที่ใดก็ได้ในโลกอย่างอิสระ และเป็นการเปิดประตูสำหรับการระดมทุนมวลชนในลักษณะ Peer-to-Peer (P2P Crowdfunding) ได้ทันที “ด้วยการเปิดโอกาสให้เกิดช่องทางใหม่ในการลงทุนในรูปแบบ P2P Crowdfunding หรือการระดมทุนฝูงชน ส่งผลให้เกิดการไหลมาของเงินทุนต่างประเทศ หรือ Foreign Direct Investment ในรูปแบบใหม่ที่ไม่ได้มาจากบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น” ผศ.ดร. การดีกล่าวถึงผลกระทบในเชิงบวกทางด้านเศรษฐกิจของ ICO

หากจะเปรียบเทียบ Platform Blockchain ต่าง ๆ อย่าง Ethereum หรือ Stellar แต่ละ Platform มีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร

ในการตอบคำถามข้อนี้ คุณจิรายุสอธิบายถึงความแตกต่างระหว่างแต่ละ platform เริ่มจาก Bitcoin ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ให้เกิดการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลระหว่างกันอย่างอิสระในลักษณะ Open Public เป็นครั้งแรก ในขณะที่ Ethereum เป็น platform blockchain รูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดการนำเทคโนโลยี Blockchain ออกไปใช้ในรูปแบบที่เข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะมี Ethereum ทั่วโลกมีสกุลเงินดิจิทัลอยู่เพียงร้อยกว่าสกุล แต่หลังจากที่ Ethereum ได้ถูกพัฒนาขึ้น มีสกุลเงินดิจิทัลใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากกว่า 2 พันสกุล หากจะเปรียบเทียบ platform แต่ละ platform ย่อมมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ดังนั้นคุณจิรายุสจึงได้ทิ้งท้ายเอาไว้ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำความเข้าใจการทำงานของแต่ละ platform เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ได้ตามวัตถุประสงค์

หากพูดถึงขั้นตอนในการพัฒนาเทคโนโลยี ICO คุณมีมุมมองอย่างไรต่อข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ICO

“ปี 2018 นับเป็นปีที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับ ICO เพราะปี 2018 เป็นปีที่เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเกี่ยวกับเทคโนโลยี Blockchain และ ICO มากขึ้นเยอะมาก เพราะต่างฝ่ายต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ จากเทคโนโลยีนี้ ดังนั้นในปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย” ผศ.ดร. การดีกล่าว “จะว่าไปแล้วเราต้องขอบคุณ JFIN บริษัทลูกของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ไทย ที่เป็นผู้กล้าในการริเริ่มโครงการ ICO เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ในช่วงเวลาที่ข้อกฎหมายยังมีความคลุมเครืออยู่มาก และผลพวงที่เกิดขึ้นจากความพยายามของพวกเขา คือการก่อให้เกิดพัฒนาการทางด้านข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย”

หากพูดถึงกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลแล้ว มีด้วยกันสองด้านคือ ด้านการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ฯ และการเป็นโบรกเกอร์หรือดีลเลอร์ ซึ่งในตอนนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานแรก ๆ ที่กระโดดเข้ามาในบทบาทของผู้กำกับดูแลขอบเขตของการแลกเปลี่ยน ICO สาเหตุมาจากความกังวลที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเรื่องการฉ้อโกงและโอกาสในการล้มเหลวของธุรกิจที่ระดมทุนผ่าน ICO ซึ่งมีสถิติสูงถึง 97% อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นได้ชัดว่าการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบของ ICO นั้นง่ายและรวดเร็วกว่ากระบวนการของ IPO อยู่มาก ทั้งนี้เพราะการแลกเปลี่ยนโทเคนนั้นสามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ซึ่งเป็นการเปิดช่องทางใหม่ ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น

ถึงกระนั้นการระดมทุน หรือการลงทุนผ่าน ICO ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องง่าย ด้วยข้อกฎหมายที่รัดกุม รวมถึงระเบียบและเอกสารมากมายที่ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องของที่ปรึกษาทางกฎหมาย ผู้ตรวจสอบบัญชี และขั้นตอนการยื่นเอกสารที่ซับซ้อนไม่ต่างจากกระบวนการจด IPO แต่สิ่งที่หน่วยงานต่าง ๆ เหล่านี้คาดไม่ถึง คืออิสระในการแลกเปลี่ยนโทเคนซึ่งสามารถทำได้อย่างไร้พรหมแดน ส่งผลให้มีธุรกิจสตาร์ทอัพไทยเป็นจำนวนมากเลือกที่จะหันไปจดบริษัทที่สิงคโปร์ เพื่อเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่าน ICO ได้ง่ายยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ผู้ออกกฎระเบียบต่าง ๆ ในประเทศไทยควรคำนึงถึงคือการหาสมดุลระหว่างความปลอดภัยและการส่งเสริมนวัตกรรม

แล้วในแง่ของขั้นตอนการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เป็นอย่างไร

คุณจิรายุสตอบคำถามข้อนี้ด้วยการเล่าถึงขั้นตอนการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain เป็น 4 ช่วงเวลาด้วยกัน โดยในช่วงเวลาแรก Internet of Money คือ Bitcoin หรือการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ช่วงเวลาที่สอง Internet of Asset คือ การนำเทคโนโลยี Blockchain ไปใช้นอกเหนือจากขอบเขตของวงการการเงิน ซึ่งในช่วงนี้เราเริ่มเห็นการนำ blockchain ไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจอื่น ๆ นอกเหนือจากการเงินและการธนาคาร อาทิเช่น การที่ Walmart นำ blockchain เข้าไปใช้ในการบันทึกข้อมูลสินค้าในคลัง หรือการนำ blockchain ไปใช้พัฒนาระบบ e-KYC หรือการนำ blockchain ไปใช้จัดการข้อมูลทางด้านสุขภาพและการแพทย์ หรือแม้กระทั่งการนำ blockchain ไปใช้ในธุรกิจอสังหา กับการขายอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบของ fractional ownership หรือการเป็นเจ้าของร่วมกันในฝูงชน ซึ่งในช่วงเวลานี้ จะเห็นได้ว่ามีการนำเทคโนโลยี blockchain ไปใช้ในธุรกิจที่หลากหลายมาก

ช่วงเวลาที่สามคือช่วงเวลาของ Internet of Entities หรือการทำให้ธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินไปได้โดยอัตโนมัติ และเป็นการกระจายอำนาจในการควบคุมธุรกิจออกจากศูนย์กลางผ่านรูปแบบ smart contract โดย blockchain เปิดโอกาสให้กระบวนการทางด้านธุรกิจต่าง ๆ สามารถดำเนินไปได้ด้วยตัวของมันเอง

ช่วงเวลาที่สี่ เป็น Value Web (Interoperable Ledger) เรื่องของเชื่อมโยงคุณค่า โดยเราเริ่มที่จะเห็น platform ในการแลกเปลี่ยนคุณค่าใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากกว่าการแลกเปลี่ยนได้เพียงสกุลเงิน ในช่วงเวลานี้ สกุลเงินต่างสกุลจะสามารถสื่อสารกันได้โดยตรง และสื่อสารเป็นภาษาเดียวกัน ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินที่ต่างกันได้อย่างไร้ขีดจำกัด ยกตัวอย่างเช่น จำนวนแต้มที่คุณได้จากการเล่นเกมออนไลน์อาจนำมาใช้แลกเปลี่ยนเพื่อซื้อสิ้นค้าและบริการในชีวิตจริงได้

ในข้อนี้ ผศ.ดร. การดีได้กล่าวเสริมถึงคุณค่าที่เป็นได้มากกว่าคุณค่าทางการเงิน เพราะคุณค่าสามารถเป็นได้มากกว่านั้น คุณค่าอาจจะหมายถึงคุณค่าทางด้านสุขภาพ หรือคุณค่าทางด้านการทำความดีเพื่อสังคม ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน มีการให้คะแนนความดี เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสิทธิ์ในการเข้าถึงสินค้าและบริการต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งหากมองในแง่นี้จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี blockchain สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ และการสร้างนวัตกรรมด้านสังคมได้อีกด้วย

คุณคิดว่า ICO หรือ Blockchain มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจมากแค่ไหน

“ยังไม่ต้องไปถึง blockchain เพราะแค่ในส่วนของ ICO ได้ส่งผลให้เกิดการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมากแล้ว อย่างที่ดิฉันได้พูดไว้ก่อนหน้านี้ว่า ICO เป็นการเปิดช่องทางการลงทุนช่องทางใหม่ที่ทำให้เกิดการระดมทุนผ่านมวลชนได้อย่างไร้พรหมแดน ซึ่งในแง่นี้ถือเป็นการเปิดช่องทางเข้าสู่การไหลมาของแหล่งเงินทุนต่างชาติเป็นจำนวนมหาศาล และ ICO นับเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี blockchain เท่านั้น หากจะพูดถึงอิทธิพลที่ blockchain มีต่อระบบเศรษฐกิจแล้ว ก็นับว่ายิ่งใหญ่กว่านี้มาก” ผศ.ดร. การดีตอบ

คุณจิรายุสกล่าวเสริม “ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อินเตอร์เน็ตทำให้เกิด Digital Abundance แต่ตอนนี้ blockchain กำลังทำให้เกิดสภาวะ Digital Scarcity” นั่นเพราะอินเตอร์เน็ตส่งผลให้เกิดการถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างอิสระ ได้อย่างทันท่วงที ตลอด 24 ชั่วโมง แต่ blockchain กำลังทำให้สภาวะนั้นเปลี่ยนไป นั่นเพราะ blockchain เปิดช่องทางให้เราสามารถเปลี่ยนคุณค่าในรูปแบบต่าง ๆ ให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการสร้างคุณค่าให้กับข้อมูลดิจิทัลต่าง ๆ ให้สามารถเกิดการแลกเปลี่ยนผ่านมือจากผู้ใช้งานคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งได้โดยสมบูรณ์แบบ ซึ่งการแลกเปลี่ยนคุณค่าที่ขยายวงกว้างขึ้นมากกว่าสกุลเงินจะส่งผลให้เกิดการเติบโตของ GDP และคุณค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล

ผศ.ดร. การดีกล่าวว่า หากจะพูดถึงผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ควรต้องพูดถึงผลกระทบเชิงสังคมด้วยเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบัน ประเด็นหลักที่กำลังได้รับความสนใจคือสังคมผู้สูงอายุ “หากลองนึกสภาพชีวิตของเราหลังเกษียณ จะเป็นสภาวะที่เราไม่มีรายได้ แต่ยังคงต้องมีรายจ่าย และช่องทางเดียวที่คุณจะสร้างมูลค่าเพิ่มได้คือการเพิ่มขึ้นของมูลค่าของทรัพย์สินที่มีอยู่ หรือบ้าน จะดีไหมหากเราสามารถที่จะสร้างโทเคนคุณค่าในรูปแบบอื่น ๆ แล้วค้ากำไรจากทรัพย์สินได้ ซึ่งนี่อาจเป็นรูปแบบธุรกิจของโลกอนาคต”

คุณคิดว่าประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับ ICO และ Blockchain แค่ไหน

“เชื่อหรือไม่ว่าประเทศไทยเรานับว่าเป็นประเทศที่มีความพร้อมด้านข้อกฎหมายสำหรับ blockchain เป็นลำดับต้น ๆ ของโลกตอนนี้เรามีความพร้อมทั้งด้านการออกใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการ ICO Portal การออกใบอนุญาตสำหรับโบรกเกอร์ เราค่อนข้างจะเป็นผู้นำทางด้านนี้” คุณจิรายุสเผย “แต่ในทางกลับกัน ระบบนิเวศของเรายังตามหลังประเทศเกาหลี หรือ ญี่ปุ่นอยู่มาก ถ้าเปรียบเทียบกันแล้ว จำนวนโครงการ ICO ของเรายังมีอยู่น้อยมาก”

ผศ.ดร. การดีกล่าวเพิ่มเติมว่า “ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจว่า ICO ไม่ได้หมายถึงขุมเงินขุมทองที่ได้มาโดยง่าย คุณไม่สามารถเสกเงินขึ้นมาจาก ICO ได้ ก่อนอื่นคุณควรตั้งคำถามกับตัวคุณเองว่าคุณมีความพร้อมที่จะระดมทุนผ่าน ICO แค่ไหน: คุณกำลังส่งมอบคุณค่ารูปแบบใดให้กับนักลงทุน นักลงทุน หรือ contributor ของคุณเขาจะได้รับสิทธิอะไรจากการซื้อ ICO เพื่อมีส่วนร่วมในการสร้างบริษัทของคุณ” ผศ.ดร. การดีให้คำแนะนำผู้ที่กำลังวางแผนลงทุนใน ICO ว่า แทนที่จะรอให้มีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันความเสี่ยงสำหรับตัวคุณเอง คุณควรทำความเข้าใจความเสี่ยง และเข้าในหลักการของ ICO ด้วยตัวคุณเองให้มากที่สุดก่อน “สองสิ่งที่คุณต้องคำนึงถึงในการลงทุนผ่าน ICO คือ โทเคนที่คุณกำลังจะลงทุนมีความน่าสนใจแค่ไหน และธุรกิจธุรกิจนี้มีความยั่งยืนหรือไม่”

สำหรับธุรกิจที่สนใจนำ blockchain มาประยุกต์ใช้ คุณมีข้อแนะนำหรือไม่ว่าควรมีขนาดธุรกิจเล็กหรือใหญ่ขนาดไหน หรือมีเงื่อนไขทางด้านธุรกิจแบบไหน

“Blockchain เป็นเทคโนโลยีแบบเปิดกว้าง ซึ่งหมายความว่าคุณไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใครในการนำ blockchain ไปใช้งาน ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าธุรกิจของคุณจะต้องเล็กหรือใหญ่ขนาดไหนถึงจะใช้ blockchain ได้ ผมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ คุณจะสามารถนำมันไปใช้งานได้เร็วแค่ไหน” คุณจิรายุสตอบ

ต่อด้วยผศ.ดร. การดี ที่กล่าวว่า “ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมใด คุณสามารถนำ blockchain ไปใช้ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่เฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี แต่ในเรื่องของขนาดของบริษัทดิฉันเห็นต่าง ดิฉันคิดว่าหากคุณเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ในระยะเริ่มแรกของเทคโนโลยีตัวนี้ คุณอาจจะยังไม่พร้อมที่จะกระโดดเข้ามาเล่นในสนามนี้เพราะ Implementation Cost ยังสูงมากอยู่ แต่คุณยังสามารถที่จะเรียนรู้และทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี blockchain และ Business Model ใหม่ให้ได้มากที่สุด ก่อนที่จะค้นพบวิธีที่นำ blockchain เข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของคุณ แต่หากคุณเป็นบริษัทใหญ่แล้วคุณเห็นช่องทางในการนำ blockchain เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาธุรกิจของคุณ คุณสามารถที่จะทำได้ทันที”

ช่วยอธิบายขั้นตอนการระดมทุนผ่าน ICO ได้หรือไม่

คุณจิรายุสอธิบายว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อระดมทุนผ่าน ICO จะยึดหลักเดียวกันกับธุรกิจสตาร์ทอัพทั่วไป คือคุณต้องมีไอเดียในการสร้างธุรกิจ คุณต้องมีทีมงานที่พร้อมทำงานเต็มตัว คุณต้องมีที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ คุณต้องเตรียมความพร้อมเช่นเดียวกันกับธุรกิจสตาร์ทอัพที่ต้องเสนอแผนธุรกิจให้กับนักลงทุน ในส่วนของ ICO สิ่งที่คุณอาจต้องเตรียมการเพิ่มเติมจะเป็นในส่วนของ White Paper ที่อธิบายถึงแผนธุรกิจของคุณโดยละเอียด แผนการทำงานของคุณตามช่วงระยะเวลา โดยคุณต้องระบุให้ชัดเจนว่าคุณต้องการทำการแลกเปลี่ยนผ่านสกุลเงินดิจิทัลสกุลไหน และใช้ platform อะไร จัดเตรียมในส่วนของ Smart Contract ให้เรียบร้อย และเตรียมแผนการตลาด การออกสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้นักลงทุนทราบข่าวการระดมทุนของคุณ โดยคุณควรระบุเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน นอกจากนี้คุณควรเตรียม Yellow Paper เพื่ออธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับเทคโนโลยีของคุณ และ Executive Summary ด้วย หากเป็นไปได้ควรมี Prototype หรือทำการทดสอบคอนเซ็ปท์ของธุรกิจของคุณให้เรียบร้อย และที่สำคัญอย่าลืมเงื่อนไขเรื่องภาษี  นอกจากนี้ การเลือกใช้คำก็มีความสำคัญเป็นอย่างมากในข้อกฎหมาย เพราะฉะนั้นคุณควรศึกษาเงื่อนไขทางด้านกฎหมายให้ละเอียด

ผศ.ดร. การดีเสริมว่า ในปี 2019 นี้จะเป็นปีที่เราควรจับตามองความเคลื่อนไหวของการใช้ประโยชน์จาก ICO และ Blockchain ที่จะมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการขนส่ง และธุรกิจ Media Advertising อื่น ๆ

เราจะสามารถปลดล็อคธุรกิจของเราด้วย Blockchain ได้อย่างไรบ้าง

คุณจิรายุสให้คำตอบในเรื่องนี้ว่า “มันขึ้นอยู่กับว่าคุณอยู่ในธุรกิจไหน หากคุณทำห้างสรรพสินค้า คุณอาจมีระบบสะสมแต้มสมาชิก ซึ่งหากคุณสามารถแปลงแต้มคะแนนสะสมของลูกค้าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลได้ด้วย blockchain คุณก็อาจทำการเชื่อมโยงเพื่อแลกเปลี่ยนคุณค่าของแต้มสะสมของคุณกับธุรกิจอื่น ๆ เช่น คุณอาจนำแต้มสะสมไปซื้อน้ำมันได้” คุณจิรายุสยังอธิบายเพิ่มเติมถึงประโยชน์ในการใช้ blockchain เพื่อปลดล็อคโอกาสทางธุรกิจด้านอื่น ๆ อาทิเช่น ในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คุณสามารถใช้ blockchain จัดการแบ่งขายห้องชุดด้วยระบบ fractional ownership ที่ทำให้คุณเป็นเจ้าของห้องร่วมกับคนอีกหลายร้อยคน โดยแต่ละคนจะเป็น contributor ในการซื้อสิทธิถือครองห้องชุดนี้กันคนละส่วน และสามารถกระจายสัดส่วนการถือครองของตนเองได้ ในวงการธุรกิจการเงินการธนาคาร คุณอาจสามารถลดต้นทุนจากการเชื่อมโยงระบบบัญชีต่าง ๆ เพื่อประหยัดเวลาในการสื่อสารข้ามระบบ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงการธุรกิจรูปแบบไหนก็สามารถนำ blockchain ไปประยุกต์ใช้เพื่อปลดล็อคธุรกิจได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหาที่คุณต้องการจะแก้ไข

เพิ่มเติมจากความคิดเห็นของคุณจิรายุส ผศ.ดร. การดีกล่าวว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในวงการไหน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ ทุก ๆ อุตสาหกรรมในปัจจุบันกำลังเคลื่อนเข้าสู่วงการ FinTech “กุญแจสำคัญในการปลดล็อคธุรกิจของคุณ คือการยอมรับความจริงว่า หากคุณจะเล่นเกมใหม่ ๆ คุณก็ต้องยอมที่จะละทิ้งกฎเกณฑ์เก่า ๆ มิเช่นนั้นแล้ว คุณก็จะติดอยู่กับทรัพยากรเดิม ๆ วิถีเดิม ๆ ดังนั้น ก่อนที่คุณจะปลดล็อคธุรกิจของคุณ คุณควรจะต้องปลดล็อคตัวเองออกจากพันธนาการเก่าๆ ให้ได้เสียก่อน”

รับชมวีดีโอฉบับเต็มได้ ที่นี่

For privacy reasons YouTube needs your permission to be loaded.

I Accept

 

ติดตามเนื้อหาของ Unlock Your Business with Blockchain (Part2) คลิกด้านล่าง