คดีที่กำลังถูกสังคมจับตาตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหนีไม่พ้นการเสียชีวิตของ “ลันลาเบล” โดยนอกเหนือจากคำให้การจากผู้เกี่ยวข้อง พยานหลักฐานด้านวัตถุที่พบ และภาพจากกล้องวงจรปิดแล้ว Smart Watch ที่เธอสวมกำลังกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่มีผลต่อการไขข้อข้องใจต่างๆ โดยเฉพาะเวลาการเสียชีวิต เนื่องจากสามารถจับ Heart Rate หรือ อัตราการเต้นของหัวใจได้
Smart Watch เรือนดังกล่าวเป็นของยี่ห้อ Samsung รุ่น SM-R810NZKATHO สี Rose Gold ขนาด 42 มิลลิเมตร มูลค่าประมาณ 11,000 บาท วันนี้ OPEN-TEC จะสรุปให้ฟังว่า การทำงานของ Smart Watch เป็นอย่างไร โดยใช้เวลาศึกษารายละเอียดจากหลายแหล่งที่น่าเชื่อถือ และโฟกัสไปที่การจับอัตราการเต้นของหัวใจ
หลักการทำงานของมัน คือการยิงลำแสงความเข้มข้นสูงที่อยู่ด้านหลังของเรือนนาฬิกา ที่เห็นเป็นไฟเขียวๆ หรือเรียกว่า PPG (Photoplethysmography) เทคนิคทางแสงที่ใช้ในการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงปริมาตรในเลือด โดยข้อมือของเรา เป็นตำแหน่งที่มีระบบหลอดเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจ 2 เส้นคือ หลอดเลือดแดง Radial และ Ulnar
บริเวณนี้มีชั้นไขมันไม่มากนัก ‘แสงไฟเขียว’ จะทำการแทรกซึมผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ เพื่อตรวจสอบจังหวะที่หลอดเลือดมีสีเข้ม-อ่อน เปลี่ยนไปตามแรงสูบฉีดของหัวใจ และสะท้อนกลับมาที่จุดรับแสงของนาฬิกา ก่อนนำค่าความเข้มของแสง มาคำนวนเป็นจำนวนครั้งการเต้นของชีพจรในหนึ่งนาที
พูดง่ายๆ ว่า ค่าความเข้มของเลือดตามจังหวะการสูบฉีด ถูกแปลงมาเป็นอัตราการเต้นของหัวใจ
อัตราการเต้นของหัวใจขณะพักในผู้หญิง อายุ 18-25 ปี (ลันลาเบลอายุ 25 ปี) : ค่าเฉลี่ยของบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 74-78 ครั้งต่อนาที
ภาพจาก Samsung
อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่รบกวนการทำงานของระบบตรวจวัดนี้ได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- ตำแหน่งที่คาดไว้บนข้อมือ หากแสงผ่านลงไปเจอกระดูก หรือไขมันหนาแน่น ส่งผลให้การตรวจวัดทำได้ไม่สมบูรณ์
- สีผิวหรือรอยสักบางรูปแบบ สีผิวที่เข้มมีผลกับการยิงแสงผ่านของนาฬิกากลุ่มนี้ ผิวสีสว่างกว่าจึงวัดได้แม่นยำกว่า
- ความเปียกชื้นของผิวหนัง เหงื่อหรือน้ำที่มากเกินไปอาจทำให้แสงผ่านลงไปได้ไม่สมบูรณ์
- การเคลื่อนไหวร่างกาย ถ้าเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว หรือการเปลี่ยนแปลงทิศทางอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนตำแหน่งของเซนเซอร์และมีผลต่อการแสดงผลได้
ทั้งนี้ ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ และ กรรมการผู้จัดการบริษัท T-NET ภายใต้การกำกับดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (สวทช.) ระบุว่า เนื่องจากสมาร์ทวอทช์ ไม่ใช่เครื่องมือทางการเเพทย์ ทำให้ผลตรวจต่างๆ ยังไม่ได้ยอมรับในทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม อัตราการเต้นของหัวใจที่ถูกระบุในสมาร์ทวอทช์ถือเป็นตัวช่วยสำคัญที่ส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าใจหรือสันนิษฐานสถานการณ์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น จนอาจนำไปสู่การคลี่คลายคดีในที่สุด
ขณะที่ พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ ตงเต๊า ผบก.น.8 กล่าวว่า สมาร์ทวอทช์ อาจเป็นพยานประกอบได้ในภายหลัง แต่ไม่ใช่หลักฐานหลัก และในมุมมองของ นายเกิดผล เเก้วเกิด ทนายความอิสระ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันผ่านสื่อมวลชนว่า คดีที่มีผู้เสียชีวิต ต้องประเมิน วินิจฉัยและได้รับคำยืนยันจากเเพทย์ “ยังไม่มีใครกล้ารับประกันว่าสมาร์ทวอทช์จะใช้ยืนยันได้ 100 เปอร์เซ็นต์” พร้อมอธิบายเพิ่มว่าพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านอื่นๆ ยังถือเป็นตัวหลักในการคลี่คลายคดี สิ่งที่เกิดขึ้นต้องบอกว่า เรื่องราวของเธอเป็นบทเรียนชั้นดีให้กับสังคม รวมถึงเป็นการบ่งชี้ว่านวัตกรรมและ ‘เทคโนโลยี’ กำลังมีอิทธิพลต่อมนุษยชาติมากแค่ไหน
อีกหนึ่งข้อมูลที่อยากให้ทุกท่านได้อัปเดตเพิ่มเติมคือ ยอดจำหน่ายสมาร์ทวอทช์กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บริษัทวิจัยตลาด Strategy Analytics เปิดเผยว่า ตลาดสมาร์ทวอทช์ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 โดยมียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจาก 8.6 ล้านเรือน เป็น 12.3 ล้านเรือน ในปีนี้
ในส่วนของแบรนด์ที่ยังครองตลาดสมาร์ทวอทช์ คือ Apple ยังครองตลาด ที่ยอดจำหน่าย 5.7 ล้านเรือน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 46.4% ซึ่งสูงขึ้นจากปีก่อนที่มียอดจำหน่าย 3.8 ล้านเรือน ด้าน Samsung อยู่ที่ 2 ล้านเรือน สูงกว่าปีก่อนที่มียอดจำหน่าย 0.9 ล้านเรือน ตามมาด้วย Fitbit 1.2 ล้านเรือน ลดลงจากปีก่อนที่มียอดจำหน่าย 1.3 ล้านเรือน.