ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าใครๆ ล้วนอยากเป็น Influencer เพราะถือเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่ ผ่านกลยุทธ์การตลาดที่ใช้อิทธิพลทางความคิด ซึ่งใครๆ ต่างสามารถเป็น Influencer ได้เพียงชั่วข้ามคืน และเม็ดเงินโฆษณาช่องทางดังกล่าวมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมหาศาลในช่วงเวลาสั้นๆ
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคที่ Influencer ครองเมือง โดยมีข้อชี้วัดว่าปัจจุบันเป็นยุคที่ลูกค้าเชื่อรีวิวออนไลน์ มากกว่าการโฆษณา โดยตั้งแต่ปี 2560 เริ่มมีผู้นำทางความคิดเกิดขึ้นในสังคม เริ่มต้นมาจากกลุ่มดาราและผู้มีชื่อเสียง และใน ปี 2561 เริ่มมีผู้อิทธิพลทางความคิดมากขึ้น แบ่งเป็นตามแขนงต่างๆ แบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งมีผู้ติดตามตั้งแต่ 10,000 – 100,000 คน โดย วัยรุ่นจะเน้นติดตามผู้ที่มีความรู้ มีความเป็นตัวของตัวเอง ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่และคนทำงาน จะติดตามผู้ที่ความคิดสร้างสรรค์ และแทรกการให้ความรู้
ผลสำรวจพบว่ารูปแบบคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคนิยม 53.2% คือรูปแบบวิดิโอ ที่มีการเคลื่อนไหวแสดงความรู้สึก และรูปแบบภาพ 26.5% รวมถึงบทความตัวหนังสือ 8.1% ซึ่งสินค้าที่มีผู้บริโภคซื้อตามเมื่อเห็นรีวิวการใช้ เรียงตามลำดับ ได้แก่ เครื่องสำอาง 50.2% อาหารและเครื่องดื่ม 46.5% ร้านอาหาร 38.8% และสถานที่ท่องเที่ยว 34.1%
Photo Source: College of Management Mahidol University
Photo Source: College of Management Mahidol University
จากการสำรวจรูปแบบคอนเทนต์ที่ทางเพจ Influencer จะนำเสนอให้ลูกค้า ส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะ Pic Post (ขนาด A4 หรือ มุข 3 ช่อง), Photo Stories (โพสรูปเป็นอัลบั้ม) , Clip Vdo 30-45 วินาที (เรทราคาขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการ Creative) หรือรวมไปถึงการแชร์คอนเทนต์รูปหรือคลิปวิดิโอที่มาจากลูกค้า โดยไม่ต้องมีการสร้างสรรค์ผลงานเพิ่มเติม
ทั้งนี้ทางเพจมีการต้องนำเสนอข้อมูลโดยสรุปของผู้ติดตามเพจ สัดส่วนเพศ และอายุของผู้ติดตาม ยอด Engagement แบ่งตามลักษณะโพสต่างๆ รวมไปถึงบางรายจะการันตี Engagement ให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นตัวแปรของราคาที่แตกต่างกัน
จากที่กล่าวข้างต้นส่วนใหญ่จะเป็นการแชร์คอนเทนต์ผ่านช่องทาง Facebook เป็นหลัก ซึ่งหากข้ามมาฝั่ง Twitter ที่แพลตฟอร์มเน้นเป็นการสื่อสารผ่านข้อความ และใช้แฮชแท็ก# พบว่ามีแบรนด์สินค้าเริ่มมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น โดยจะสื่อสารผ่านแฮชแท็ก ที่จะใช้เนื้อหาดึงดูดใจผู้บริโภค แต่ไม่ใช้ชื่อสินค้าโดยตรง จากการสำรวจพบว่ามีการจ้าง Influencer ที่เป็นบัญชีมีผู้ติดตามจำนวนมาก ซึ่งนิยมจ้างเป็นกลุ่ม พูดถึงประสบการณ์การใช้บริการหรือสินค้าแบบอ้อมๆ และติดแฮชแท็ก เรียกว่าการรีทวิตที่เปรียบเสมือนปุ่มแชร์ สร้าง Engagement ได้จำนวนมาก และในบางครั้งเป็นประเด็นฮือฮาได้ในโลกออนไลน์ถ้ามีการสร้างสรรค์ประเด็นได้ดี
จากการสำรวจ Rate Card ของ Influencer ในทวิตเตอร์ หากจ้าง 1 บัญชี ที่มีผู้ติดตามหลัก 1 แสน- 1 ล้านคน จะมีการจ้างโพสในราคา 20,000-40,000 บาท/ 1 โพส แต่ส่วนใหญ่แบรนด์จะเลือกใช้ Agency ที่รวบรวม Influencer ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก โดยจะมีแพคเกจให้เลือก 12 Influencer และคิดคอนเทนต์ 4-5 ครั้ง ซึ่งเมื่อมีหลายบัญชีพูดถึงสินค้ามากขึ้น จะทำให้เป็นกระแสและได้ยอด Engagement มากขึ้น ราคาเฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ 200,000-400,000 บาท ทั้งแพคเกจ
Photo Source: Twitter_@hashtagintrend ที่รวบรวมข้อมูลแฮชแทกโฆษณา
ลองมาฟังมุมมองของเพจเรียนเจ้านายที่เคารพ ซึ่งถือเป็น Influencer เจ้าหนึ่งในตลาด ด้วยยอดผู้ติดตามในเฟซบุ๊กกว่า 850,000 คน และแบรนด์ชั้นนำใช้บริการให้เป็นกระบอกเสียงบอกข่าวสารประชาสัมพันธ์แบบสม่ำเสมอ โดยเพจเรียนเจ้านายที่เคารพให้สัมภาษณ์ด้วยการตอกย้ำจุดยืน เป็นเพจที่สร้างตัวการ์ตูนที่มีลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ และเพศ แตกต่างกันออกไป จับกลุ่มคนได้กว้าง และสามารถนำตัวการ์ตูนเข้าไป Tie-in กับสินค้าได้หลากหลาย เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้หลากหลายขึ้นเช่นกัน
Photo Source: เพจเรียนเจ้านายที่เคารพ
โดยยอมรับว่าความท้าทายของการทำงานในโลกโซเชียลคือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในทุกวัน โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นช่องทางหลักของเพจ ที่ผ่านมามีการปรับมุมมองการเห็นโพสต์รวมถึงโฆษณา ส่งผลต่อยอดการติดตามและการมีส่วนร่วมกับเพจ ส่วนประเด็นเรื่องเพจที่มีเนื้อหาและกลุ่มลูกค้าใกล้เคียงกัน ถือเป็นความท้าทายด้านการทำธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ทางทีมต้องศึกษาทั้งคอนเทนต์และไอเดียในการนำเสนอให้มีความน่าสนใจ และเข้าถึงผู้ติดตามเพจให้มากขึ้น เพื่อรักษาผู้ติดตามเก่า และดึงดูดผู้ติดตามหน้าใหม่ให้เข้ามาเพิ่มขึ้น
Photo Source: เพจเรียนเจ้านายที่เคารพ
ในยุคที่ Influencer เกิดขึ้นแทบล้นตลาด ทีมงานเรียนเจ้านายที่เคารพ บอกกับเราว่าการมีจุดแข็งของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ โดยทางเพจยึดหลัก Positive Content เน้นสร้างความสุขให้กับผู้ติดตาม ไม่มีเนื้อหาที่เป็นความเครียด รวมถึงต้องสม่ำเสมอในการสร้างคอนเทนต์อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่าการตลาดแบบ Influencer จะยังดำเนินต่อไปได้เป็นอย่างดี
ท้ายที่สุดนี้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดอาชีพใหม่อย่าง Influencer ซึ่งเป็นอาชีพที่ใครๆ สามารถเป็นได้ โดยอาศัยความมีชื่อเสียง ความเป็นตัวตน หรือความคิดสร้างสรรค์ แต่ในวันที่มีผู้ผลิตคอนเทนต์จนล้นอุตสาหกรรม ตลาดของ Influencer จะไปในทิศทางใด จะมาเร็วไปเร็วหรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป
ขอขอบคุณข้อมูล : จากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล , ทีมเพจเรียนเจ้านายที่เคารพ และทวิตเตอร์ @hashtagintrend