รู้หรือไม่ ภาษาทั่วโลกมีมากกว่า 7,000 ภาษา ทั้งภาษาประจำชาติ และภาษาท้องถิ่น แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถจดจำภาษาได้หมด ทำให้เรื่องภาษาเป็นอุปสรรคในการสื่อสารเสมอ
แต่ในปี 1999 ชายชาวอาทิตย์อุทัย ชิเกตากะ คูริตะ ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานบริษัทเครือข่ายโทรศัพท์ NTT DoCoMo ผู้อยู่ในทีมพัฒนาแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตบนมือถือ คิดค้นอักษรภาพ เรียกว่า Emoji (อีโมจิ) ซึ่งเป็นคำแปลตรงตัวมาจากภาษาญี่ปุ่นเริ่มใช้ในปี 1999 โดย Emoji เวอร์ชั่นแรก ถูกพัฒนามาในรูปแบบภาพ Pixel ขนาดเพียง 12×12 Pixel จำนวน176 คาแรกเตอร์เพื่อที่จะทำให้เหมาะกับการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ขณะที่วัน Emoji โลกถูกยกให้เป็นวันที่ 17 กรกฎาคมของทุกๆ ปี
บริษัทผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม และการตลาดบนอุปกรณ์พกพา Leanplum ในเมืองซานฟรานซิสโก เปิดเผยผลวิจัยว่า การแจ้งเตือนแบบ push notification ที่มีภาพ emoji จะมีอัตราเปิดอ่านมากกว่าเดิม 254% ซึ่งถือว่าเป็นระดับสูงกว่า 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับ อัตราการเปิดอ่านข้อความปกติในระบบ SMS หรือระบบแชท
องค์ประกอบศาสตร์การผลิตคิดค้น Emoji อย่างแรกคือ Analytic การวิเคราะห์สิ่งที่ต้องการสื่อสารเป็นรูปภาพ ว่าควรสื่อในลักษณะใด มี emoji ประเภทใดที่มีความสำคัญต่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน ซึ่งส่วนใหญ่ เป็นรูปใบหน้า ท่าทาง สถานที่ และอาหาร ซึ่งในระยะหลังเริ่มมีการวิเคราะห์และพัฒนา emoji ที่มีสีผิวหลากหลายให้ตอบรับกับคนทั่วโลก และต้องแสดงถึงความเสมอภาคทางเพศด้วย
ปัจจุบันอาชีพนักแปล emoji กำลังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยต้องการผู้เชี่ยวชาญชำนาญภาษา ทั้งภาษาสากลและภาษาท้องถิ่น มีความรู้รอบตัวด้านสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของประเทศที่แตกต่างกัน เพราะต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนหากเกิดการสื่อสารที่ผิดพลาดจะถือเป็นเรื่องใหญ่
ปัจจัยประกอบถัดมา คือรูปลักษณ์ของ emoji ที่ต้องมีความสวยงาม หรือมีสไตล์เป็นของตนเองเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีกรอบการออกแบบที่ตายตัว แต่การออกแบบรูปลักษณ์ให้ตรงใจผู้ใช้ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง
และสุดท้าย Coding คือการเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย Code ซึ่งเป็นภาษาของคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะใช้โปรแกรมที่ส่วนใหญ่แปลงรหัสเป็นสัญลักษณ์ ตัวเลข และตัวอักษร เพื่อแปลงสิ่งที่ต้องการสื่อสารจากรูปภาพหรือตัวอักษรลงไปบนแพลตฟอร์ม เช่น หน้าเว็บไซต์ แอพลิเคชั่น ให้เกิดการแสดงผลและตอบโต้กับระบบสั่งการ
ขอบคุณภาพจาก : ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง
ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความรู้ว่า ปัจจุบันรูปแบบการแสดงความรู้สึกมีความหลากหลายมากขึ้น Emoji ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารมากขึ้น เพราะมีรูปลักษณ์ที่เข้าถึงได้ง่าย แม้ในต่างประเทศจะเริ่มใช้ emoji มาก่อน แต่งานวิจัยปัจจุบันยังถือว่ามีจำนวนไม่มากนัก แต่คาดว่าจะเริ่มมีมากขึ้นในอนาคต
สำหรับอาชีพนักแปล emoji ถือเป็นอาชีพใหม่ ที่มีความสำคัญในการแปลงความหมายจากตัวอักษรไปสู่รูปภาพ ซึ่งใครก็สามารถทำได้ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจในการสื่อสาร โดยศาสตร์ที่จะนำมาใช้ประกอบการผลิต emoji ส่วนตัวเชื่อว่าผู้ผลิตต้องมีการศึกษาด้านจิตวิทยาค่อนข้างสูง ในการคาดการณ์ การสำรวจพฤติกรรม ซึ่งจะผนวกควบคู่กับศิลปศาสตร์และภาษาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้ emoji สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้นักแปล emoji จะมีความสำคัญกับภาคธุรกิจ ในเรื่องการโต้ตอบกับผู้บริโภค อาจมีการแปลงความรู้สึกของลูกค้า ผ่าน emoji ที่เขาเลือกใช้ ซึ่งเป็นการสำรวจพฤติกรรม เพ่อนำมาพัฒนาธุรกิจในระยะต่อไปได้เช่นกัน
ขอบคุณภาพจาก : rawpixel.com
ในปัจจุบันมีแอพลิชั่น emoji ทั้งแบบสำเร็จ และการสร้างโค้ด เบื้องต้น หรือล้ำขึ้นไปอย่าง AR emoji หรือ Animoji ให้ผู้ใช้ได้ทดลองสร้าง emoji ด้วยตนเอง รวมไปถึงมีการนำ emoji ไปพัฒนาเป็นเกมส์ด้วย ซึ่งได้รับความตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนว่า emoji ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างมาก
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : www.agilitypr.com / mindacademythai.com/