สวัสดีครับคุณผู้อ่าน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกำลังจะเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและพฤติกรรมของประชาชน โดยเรื่องใกล้ตัวล่าสุดคือเสียงประกาศ “Digital Transformation” หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการทำงานทุกกระบวนการของกรมสรรพากร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดเก็บภาษี ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้เสียภาษี ตามเป้าหมายในการเป็น “กรมสรรพากรดิจิทัล” หรือ “Digital RD” ในปี 2563
ที่น่าสนใจมากคือการนำ Big Data และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้
เริ่มที่ Big Data ทุกวันนี้สรรพากรมีข้อมูล internal data หรือข้อมูลภายใน ซึ่งเกิดจากการที่เราทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น งบการเงิน รายได้ การใช้จ่ายที่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ รวมถึงการใช้อิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง อย่างพร้อมเพย์ ซึ่งการพัฒนาระบบจะทำให้สามารถจัดเก็บข้อมูลเพิ่มเติมจากหลายแหล่งข้อมูลที่อยู่บนออนไลน์ หรือเรียกว่าข้อมูลภายนอก external data แล้วนำมาประมวลผล เช่น ใครที่มีการอวดอ้างรายได้สูงๆ บนโลกออนไลน์ หรือโชว์แสดงภาพหรือข้อความที่เข้าข่ายการสร้างรายได้เสริมที่นอกเหนือเงินเดือนและไม่มีการยื่นแสดงรายการเพื่อเสียภาษี เมื่อเป็น Big Data สรรพากรจะสามารถเก็บข้อมูลและท้วงติงได้เมื่อพบความผิดปกติ ต่างกับเมื่อก่อนที่ทำกันในรูปแบบ manual คือเป็นกระดาษ ปากกา ดินสอ ยางลบและคนตรวจสอบ ทำให้ต้องใช้เวลานานในการสืบค้นความผิดปกติ
เครดิตภาพ : Markus Spiske temporausch.com
ทีนี้เมื่อสรรพากรสามารถเก็บข้อมูลได้หลากหลายและครอบคลุมมากขึ้น ตัวระบบ AI จะเข้ามาช่วยประมาณการรายได้ วิเคราะห์พฤติกรรมและประเมินรูปแบบความน่าจะเป็นของบริษัทหรือคนๆ หนึ่งในเรื่องการเงินและการจัดการด้านภาษี โดยการทำงานของมันคือ ประมวลข้อมูลต่างๆ ที่มีทั้งภายในและภายนอก และเริ่มจำลองความเป็นไปได้ว่าคนคนหนึ่งน่าจะต้องจ่ายภาษีเท่าใด นั่นหมายความว่า จะหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีทำได้ยาก เพราะระบบฉลาดมาก
เช่น นายเอกชัย เคยมีรายได้เท่าไรในทุกๆ เดือน หากใช้เทคโนโลยีตรวจสอบจะมองเห็นรูปแบบในการใช้จ่ายเงินว่ามีเงินเข้าเงินออกอย่างไร ขายของออนไลน์ได้มากน้อยเท่าไร เลขที่บัญชีธนาคารที่มีการโอนเข้าออก โลเคชัน การถือครองทรัพย์สิน ตลอดจนค่าน้ำ ค่าไฟ ซึ่งระบบสามารถดูได้ทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและของบริษัท หรือคุณมีทรัพย์สินเท่านี้ ระบบจะประเมินและคำนวณความเป็นจริงในทุกๆ ด้าน ว่ามีโอกาสที่จะมีรายได้ที่มากกว่าที่แจ้งสรรพากรใช่หรือไม่
หรือบริษัทมีรายได้ 20 ล้านต่อปี กำไร 1-2 ล้าน ทุนจดทะเบียน 3 ล้าน เงินหมุนเวียน และอื่นๆ ทุกอย่างสอดคล้องกันหรือไม่อย่างไร ธุรกิจโรงแรม ถ้าข้อมูลเชิงเศรษฐกิจบอกอัตราเข้าพักในจังหวัดสูง 60% แต่แจ้งเสียภาษียอดเข้าพัก 10% แบบนี้เข้าข่ายผิดปกติ เป็นต้น ข้อมูลทั้งหมดเมื่อเทียบกับคนหรือบริษัทที่มีรูปแบบใกล้เคียงกัน ผลลัพธ์มันน่าจะมีแนวโน้มใกล้เคียงกัน ถ้าห่างกันจนน่าสงสัย จำเป็นต้องเข้าไปติดตามตัว
ทั้งนี้โดย AI จะทรงพลังได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับการผสมผสานระหว่าง 3 พลัง ได้แก่พลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ พลังของข้อมูลปริมาณมหาศาล และพลังของขั้นตอนการวิเคราะห์คำนวณ
อธิบดีกรมสรรพากร เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ตั้งเป้าว่าในปีนี้จะทำระบบวิเคราะห์ข้อมูล และในปี 2562 จะเชื่อมระบบข้อมูลต่างๆ เข้าด้วยกัน และในปี 2563 การเก็บภาษีของกรมสรรพากรจะเป็นระบบ AI เต็มตัว ระบบจะสามารถรู้ได้เลยว่าผู้เสียภาษีคนไหนยังเสียภาษีไม่ครบ โดยไม่ต้องใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
“การนำเทคโนโลยีมาใช้ ไม่ได้หมายความว่าเราอยากเข้ามาขูดรีดภาษีเพิ่ม เพียงแต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกว่าเดิม เพราะปัจจุบันมีทั้งคนเสียภาษีถูกต้อง และไม่ถูกต้องอยู่มาก ดังนั้นเทคโนโลยีจะช่วยแยกแยะได้ว่าใครตั้งใจโกงหรือไม่โกง” คำกล่าวจากเอกนิติ
งานนี้เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มกับระบบใหม่ เชื่อมโยงระบบทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างเป็นรูปธรรม และทำให้พวกคิดไม่ซื่อมีโอกาสน้อยลงในการกระทำความผิด นอกจากนั้นยังคาดว่าจะทำให้สามารถขยายฐานภาษีหรือเพิ่มจำนวนผู้เสียภาษีให้กับรัฐได้มากขึ้นอีกด้วย
เครดิตภาพ : iTAX
เมื่อเล่าถึงเรื่องภาษี ทำให้นึกถึงข้อมูลเกี่ยวกับบทลงโทษ 4 ประเภท ที่ iTAX (ไอแท็กซ์) เทคโนโลยีจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้นำเสนอไว้บนเว็บไซต์ https://www.itax.in.th
1. ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่เสียภาษีไม่ครบ
เสียเบี้ยปรับ 0.5 – 1 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย*1
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ*2
2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด
มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท *3
เสียเบี้ยปรับ 1 – 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย*4
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ*5
3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี
มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน*6
เสียเบี้ยปรับ x2 ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย*7
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ*8
4. หนีภาษี
มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 7 ปี*9
เสียเบี้ยปรับ x2 ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย*10
เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย เริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ*11
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมอื่นๆ เกี่ยวกับการวางแผนด้านภาษีได้ที่ https://www.itax.in.th
ขอบคุณแหล่งข้อมูล: www.thaipublica.org, www.thansettakij.com, www.itax.in.th