เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายเริ่มจากยุค 1G เมื่อราวปี ค.ศ. 1979 ที่เราพูดคุยกันด้วยเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือร่างยักษ์ในระบบอนาล็อก เข้าสู่ยุค 2G เริ่มส่งข้อความ MMS หรือ Multimedia Messaging Service หากัน ถัดมายุค 3G เราสามารถเล่นอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ เริ่มสัมผัสกับ High Speed Internet กระทั่ง 4G เราสามารถ Video Call ดูภาพ เสียงหรือหนังออนไลน์ได้ด้วยความรวดเร็ว รวมถึง Work from home ในยามสถานการณ์โควิด-19 ระบาด พวกเราสามารถประชุมร่วมกันผ่านแอปพลิเคชัน อย่าง Zoom ก่อนส่งงานและข้อมูลให้กับเจ้านายผ่าน Dropbox
จาก 4G วันนี้พวกเราคนไทยกำลังจะก้าวไปอีกขั้นสู่ยุค 5G อย่างเต็มตัว ซึ่งจะสร้างการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่สู่ผู้คน สังคม และธุรกิจ
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ทีมงาน OPEN-TEC ว่า 5G จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างพื้นฐานแทบทุกด้านของไทยทั้งทางกว้างและทางลึก กระทบกับทุกภาคส่วนตั้งแต่ภาคการผลิตอย่างกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก กระทั่งผู้บริโภคทั้งในเมืองและชนบทที่อยู่ห่างไกล
ปัจจุบันผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ (ไอเอสพี) และผู้ให้บริการมือถือในประเทศ อยู่ระหว่างติดตั้งอุปกรณ์และโครงข่ายต่างๆ คาดว่าในช่วงปลายเดือนเมษายน 2563 พื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครอย่าง สยามสแควร์, ราชประสงค์ จะเป็นที่แรกที่สามารถใช้บริการ 5G ได้ในไทย และไม่เกินสิ้นเดือนตุลาคม 5G จะขยายครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และในเมืองใหญ่ทั่วประเทศ
ต่อไปนี้คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ 5 ด้านที่จะเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล ตามความคิดเห็นของ เลขาธิการฯ กสทช.
1.ภาคการผลิต
ปัจจุบันภาคการผลิตบริษัทส่วนใหญ่ในไทยยังคงพึ่งพาแรงงานคนราว 40 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเทคโนโลยี 5G เปิดใช้งานเต็มรูปแบบ คาดว่าผู้ประกอบการจะลดการพึ่งพาแรงงานและหันมาใช้เทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น ดังที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากคนสู่ระบบหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ เรียกว่าพึ่งพาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things: IoT) จนนำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง ได้ปริมาณเท่าเดิม โดยใช้จำนวนคนที่น้อยลง รวมถึงสามารถลดเวลาการทำงานต่อสัปดาห์ลงได้ และที่สำคัญยังสามารถเพิ่มคุณภาพและมูลค่าของสินค้าได้มากยิ่งขึ้น
2.การเงินและการธนาคาร
การให้บริการทางด้านการเงินจะถูกหลอมลวมเข้ากับโทรคมนาคมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากในช่วง 4G มีการหลอมรวมไปราว 70-80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ต่อไปนี้ในโลก 5G โลกการเงินกับโลกเทคโนโลยีและโทรคมนาคม จะแยกกันไม่ออกอีกต่อไป
ผลจากการหลอมรวมดังกล่าวจะเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ จำนวนมาก ไม่สามารถค้าขายและบริการแบบวิถีเดิมๆ ได้อีกต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารที่ต้องปรับตัวด้วยการลดแรงงานมนุษย์และทรัพยากรด้านอาคาร เกิดการปิดสาขาบริการอย่างต่อเนื่อง เพราะไม่มีความจำเป็นอีกแล้ว ขณะที่การปล่อยสินเชื่อ การกู้ยืม การประเมินความสามารถในการผ่อนชำระของผู้บริโภค จะเริ่มถูกพิจารณาจากข้อมูลและระบบเอไอ ซึ่งแม่นยำและอาจยุติธรรมกว่าคน
(ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.)
3.โครงการทางด้านสังคม
เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามาช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ เราทราบกันดีว่าไทยเป็นประเทศที่มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำในทางสังคมและรายได้อย่างมาก ในอดีตผู้คนเลือกที่จะวิ่งเข้าหาภาคการผลิตในส่วนกลางหรือในเมืองหลวงเท่านั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปถึง 5G การอพยพย้ายถิ่นฐานกลับไปทำงานในบ้านเกิดมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่การเวิร์ค ฟอร์ม โฮม (Work from Home) ที่พวกเรากำลังเริ่มปรับตัวรับมือสถานการณ์โควิด-19 อนาคตก็จะเป็นเรื่องปกติหรือพบเห็นได้มากขึ้น
“เรียนหรือทำงานที่ไหนก็ได้” คือเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนกว่าที่ผ่านมา ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจต่างๆ จะเกิดขึ้นในชุมชน ตามมาด้วยการเคลื่อนไหวอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สมาร์ทฟาร์มมิ่ง เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เราจะได้เห็นและทำให้ความเหลื่อมล้ำในภาคประชาชนลดลง
4.ด้านสาธารณสุข
เป็นภาคส่วนที่มีความเหลื่อมล้ำในสังคมพอๆ กับภาคการศึกษา ปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ชนบทเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้น้อยกว่าคนในเมือง การเข้ามาของ 5G จะเป็นจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ หรือ HealthCare เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ตอนนี้ กสทช.ได้เดินหน้าทดสอบโครงการประยุกต์ใช้งานบริการทางการแพทย์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชนบท (Telehealth) ผ่าน 10 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โดยนำนวัตกรรมทางการแพทย์และระบบโทรคมนาคมเฉพาะทางรองรับระบบดูแลสุขภาพทางไกล เช่น การใช้ซอฟต์แวร์ที่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการคัดกรองโรค ระบบให้คำปรึกษาด้านสุขภาพทางไกล เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล ทั้งหมดนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ต้นทุนในการรักษาลดลง และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้ด้วย
โครงการนี้จะเน้นใน 4 โรคหลักคือ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตถึง 75% ของคนไทย และโรคที่ขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ได้แก่ โรคจอประสาทตาเสื่อม เป็นผลสืบเนื่องมาจากโรคเบาหวาน และโรคผิวหนัง โดยระบบ 5G จะทำให้แพทย์สามารถตรวจเรียลไทม์ สามารถวิเคราะห์และสั่งจ่ายยาได้เลย
5.ภาคการศึกษา
5G จะทำให้ทุกการเรียนรู้นั้นกว้าง ไกลและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น เยาวชนและผู้ต้องการเรียนรู้จะสามารถเข้าถึงข้อมูลและการศึกษาได้ในต้นทุนที่ต่ำลง ไม่จำเป็นต้องเดินทางเข้าส่วนกลาง เสียค่าใช้จ่ายมหาศาล หลังจากนี้ไม่ว่าคุณอยู่ที่ไหน คุณก็จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ทัดเทียมกับคนในเมือง
6.โครงสร้างทางการเมือง
เราเห็นแล้วว่า ‘ระบบการหาเสียง’ ได้เปลี่ยนแปลงไปในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งล่าสุด และกำลังจะเปลี่ยนแปลงมากกว่าเดิมหลังจาก 5G โดยนักการเมืองผู้ชนะ หนีไม่พ้นการพึ่งพาอาศัยข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อสร้างความได้เปรียบ เข้าถึงผู้คนอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง คนที่อยู่ในระบบเดิมๆ และไม่ปรับตัวจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
เช่นเดียวกันกับ ‘ระบบการเลือกตั้ง’ เมื่อ 5G เข้ามา การเลือกตั้งในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องขีดกากบาทผ่านกระดาษ แต่เป็นการลงทะเบียนเข้าคูหาโดยระบบเอไอ มีกล้องถ่ายภาพ ตรวจสอบและยืนยันตัวตน เทคโนโลยีเช่นนี้จะทำให้เกิดความยุติธรรม เกิดมาตรฐาน และระบบที่ตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังถือช่วยลดต้นทุนด้านทรัพยากรคนและเวลาอีกด้วย
“จงอย่ากลัวความเปลี่ยนแปลง” คือประโยคที่ เลขาธิการ กสทช.กล่าว ทิ้งท้ายว่า ทุกคนต้องรู้จักปรับตัว ปรับ Mindset ก้าวพ้นกับดัก มองการเปลี่ยนแปลงเป็นโอกาส ไม่ใช่จุดจบ หากพัฒนาและเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เชื่อได้เลยว่าในที่สุดพวกเราจะยอมรับ กล้าเผชิญหน้าและได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงได้อย่างสบายใจ
ภาพประกอบจาก สำนักงาน กสทช. https://www.nbtc.go.th/