สื่อที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในทศวรรษนี้คงเป็นสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากที่สุด ทำให้แบรนด์ทั้งใหญ่และเล็ก แห่ทุ่มงบการตลาดประโคมเข้าอุตสาหกรรมสื่อออนไลน์อย่างต่อเนื่อง
Wisesight ผู้เชี่ยวชาญที่ให้บริการด้านการวิเคราะห์โซเซี่ยล มีเดีย (Social Data Analytic Service) อัพเดตความนิยมการใช้โซเชียลมีเดียในไทย ช่วง ม.ค.- เม.ย. 2562 พบว่าผู้ครองความนิยมยังตกเป็นของเฟซบุ๊คที่มีผู้ใช้บริการ 53 ล้านราย รองลงมาคืออินสตราแกรม (Instagram) มีผู้ใช้ประมาณ 13 ล้านราย และทวิตเตอร์ (Twitter) มีผู้ใช้งานประมาณ 9.5 ล้านราย ซึ่งทั้งปี 2562 นี้ Wisesight ยังคาดว่าจำนวนข้อความที่โพสในโซเชียลมีเดียทั้งหมดจะสูงถึง 6.3 พันล้านข้อความ มากกว่าปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ 5.3 พันล้านข้อความ
กลุ่มธุรกิจที่ใช้โซเชียลมีเดียมากที่สุด ตามลำดับ คือ กลุ่มห้างสรรพสินค้า , กลุ่มภาครัฐ , ธุรกิจ E-marketplace และกลุ่มสื่อสารโทรคมนาคม
ข้อมูลเชิงลึกที่น่าตกใจคือแม้ช่วง 4 เดือนแรกของปีจะมีจำนวนโพสต์ในโซเชียลมีเดียจากแบรนด์มากกว่า 1,000
แบรนด์ สูงถึง 195,000 โพสต์ เพิ่มขึ้น 23% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่กลับพบว่าการมีส่วนร่วม (Engagement) กับโพสต์ลดลงถึง 18% ต่อแบรนด์ โดยกลุ่มที่มี Engagement ลดลง ได้แก่ ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจสินค้าแม่และเด็ก และธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนกลุ่มธุรกิจที่ยังมี Engagement เพิ่มขึ้น คือธุรกิจสื่อสารและโทรคมนาคม ธุรกิจการเงิน ธุรกิจ e-Marketplace
อย่างไรก็ตามปีนี้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA คาดการณ์ว่าไทยจะขึ้นแท่นผู้นำการซื้อขายออนไลน์ในอาเซียน โดยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปีนี้ จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 3.2 ล้านล้านบาท เติบโต 12-13% จากปีก่อน เพราะผู้บริโภคเริ่มเข้าใจการซื้อขายผ่านช่องทางนี้มากขึ้น เพราะมีความสะดวกรวดเร็ว อีกทั้งแพลตฟอร์มซื้อขายมีอยู่หลากหลาย จึงเห็น แอพลิเคชั่นที่ทำหน้าที่ตัวกลางขายสินค้ากระจายอยู่ในตลาดจำนานมาก
นายราชศักดิ์ อัศวศุภชัย กรรมการ สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ให้สัมภาษณ์ว่า การใช้เงินโฆษณาในสื่อออนไลน์ขณะนี้ยังไม่มีวี่แววซบเซา โดยแบรนด์จะเน้นช่องทางที่หลากหลายแพลตฟอร์มมากขึ้นยิ่งขึ้น เพราะเป็นสื่อที่เข้าถึงผู้บริโภคได้ชัดเจนที่สุด โดยคาดการณ์งบโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลปีนี้ จะมีมูลค่าถึง 19,692 ล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อน ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่ใช้งบสูงสุดคือกลุ่มยานยนต์ การสื่อสารโทรคมนาคม เครื่องสำอางสกินแคร์
“ปีนี้คาดว่าเฟซบุ๊คยังเป็นช่องทางอันดับ 1 ซึ่งแบรนด์เลือกใช้ แต่ต้องยอมรับว่า Youtube เริ่มมีอิทธิพลกับผู้บริโภคมากขึ้น เพราะมีการให้ข้อมูลที่ละเอียดในเชิงการรีวิว ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับการทำคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจ ซึ่งทั้ง 2 ช่องทางดังกล่าวคิดเป็นมาร์เก็ตแชร์กว่า 40% ของตลาด และกระแสการใช้สื่อออนไลน์จะยังเติบโตต่อเนื่องแน่นอน”
ความท้าทายของการทำการตลาดคือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา และในยุคนี้ยังมีเทคโนโลยีที่เป็นช่องทางใหม่เข้ามาเป็นตัวแปรการกำหนดทิศทางของพฤติกรรมของผู้บริโภค ขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์ไหนจะเคลื่อนไหวทันเกมมากกว่ากัน
ขอขอบคุณแหล่งที่มา Wisesight และสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)