สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  นับเป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนถึง พลังของข้อมูลระดับบิ๊ก ดาต้าจากทุกมิติการทำงานที่เข้าสู่กระบวนการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูลในแบบ Data Visualization ทั้งตารางข้อมูล กราฟ อินโฟกราฟิก ประกอบกับการเล่าเรื่อง (Data Storytelling) ที่ง่ายต่อการจดจำและเข้าใจ ซึ่งทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงภาพรวมและประเมินผลกระทบที่ถูกต้องตรงกัน จนนำไปสู่การร่วมตัดสินใจและร่วมมือกันในการคลี่คลายวิกฤตให้ได้โดยเร็ว

คุณกอร์ปสินธุ์ จรูญเจตจำนง ผู้อำนวยการสายงานดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง บริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล จำกัด ให้สัมภาษณ์กับทีม OPEN-TEC ว่า สำหรับภาคธุรกิจเองก็เช่นกันข้อมูลได้กลายเป็นสินทรัพย์สำคัญไปแล้ว โดยองค์กรที่สามารถสั่งสมข้อมูลปัจจัยภายนอกและภายใน อาทิ ข้อมูลลูกค้าหรือผู้สนใจในผลิตภัณฑ์บริการ ซึ่งนำมาวิเคราะห์เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการที่โดนใจจนสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมหรือเพิ่มลูกค้าใหม่ได้ หรือ ข้อมูลจากขั้นตอนการดำเนินงานต่าง ที่ใช้ในการประเมินผลเพื่อเพิ่มแนวทางควบคุมคุณภาพ ลดต้นทุน หรือคาดการณ์แนวโน้มธุรกิจที่จะไปต่อในอนาคต ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมจุดแข็ง ขจัดจุดอ่อน และสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจที่เหนือกว่าคู่แข่ง

บิ๊ก ดาต้า ไม่ใช่แค่โปรเจ็คด้านไอที แท้จริงแล้ว คือ โซลูชันสำหรับตอบโจทย์ธุรกิจ

คุณกอร์ปสินธุ์ กล่าวว่า ข้อมูล บิ๊ก ดาต้า จะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร ต้องประกอบด้วย หนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญ จากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมกำหนดเป้าหมาย ขอบเขตการทำงานและการวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นไปตามโจทย์ของแต่ละธุรกิจ เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่นำไปสู่การปรับแผนดำเนินธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ สอง ศักยภาพของ ทีมงานไอที ในการกำกับเทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่าง ในการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลหลากหลายรูปแบบ มีการปรับปรุงข้อมูลให้สดใหม่ ทันสมัย และพร้อมใช้งานอยู่เสมอ รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลจากหลายส่วนงานในการดำเนินธุรกิจที่นำมาวิเคราะห์ย้อนหลัง และถอดบทเรียนในมุมมองที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้แม่นยำและถูกทาง

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ บิ๊ก ดาต้า ในบางองค์กรเกิดยาก ส่วนใหญ่มาจากการเก็บข้อมูลที่กระจัดกระจาย ไม่เป็นระบบ เช่น เก็บในรูปแบบกระดาษในคลังสินค้า ทำให้องค์กรไม่รู้ว่า มีข้อมูลอะไรอยู่บ้าง และข้อมูลใดที่สร้างคุณค่าให้กับธุรกิจ จึงมองไม่เห็นประโยชน์ของข้อมูลนั้น ขณะที่บางองค์กรตัดสินใจทางธุรกิจจากความเห็น ความรู้สึก หรือประสบการณ์มากกว่าการวิเคราะห์บนพื้นฐานของข้อมูลจริงที่เกิดขึ้น

คุณกอร์ปสินธุ์ จรูญเจตจำนง ผู้อำนวยการสายงานดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง บริษัท ทีสเปซ ดิจิตอล จำกัด

ดังนั้น บุคคลสำคัญที่สุดในการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Culture) ก็คือผู้บริหารระดับสูงขององค์กร โดยเริ่มต้นเป็นผู้ตั้งคำถามเชิงกลยุทธ์สำหรับธุรกิจ (Business Questions) และนำไปสู่การเสนอคำตอบที่เชื่อถือได้จากข้อมูลของทีมงานระดับรองลงมา โดยต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานแต่ละระดับหรือแผนก การเปิดใจกว้างในการรับฟังหรือยอมรับข้อจำกัด และพร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

นอกจากนี้ ควรติดตามแนวโน้มเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ และนำมาปรับปรุงหรือประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อาทิ วิธีจัดเก็บข้อมูลที่เข้าถึงง่าย ใช้งานสะดวกและปลอดภัย การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรที่เหมาะสมต่อการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลโดยสม่ำเสมอ เพราะในอนาคต จะมีข้อมูลเกิดขึ้นอีกมากมายซึ่งองค์กรสามารถหยิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ เช่น เทคโนโลยีไอโอที (Internet of Things ) ที่ฝังในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง เช่น สมาร์ทดีไวซ์ กล้องวงจรปิดตามท้องถนน หรือ อุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดค่าต่าง ในอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนสร้างและส่งข้อมูลชุดใหม่ เข้าสู่ระบบจัดเก็บประมวลผลโดยอัตโนมัติ ทำให้เราเข้าถึงและเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้งานมากขึ้น เมื่อมาประกอบกับ เทคโนโลยีการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล เช่น แมชชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการปรับปรุงกระบวนการทำงานและการดำเนินธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจช้อปปิ้งออนไลน์ที่คุ้นเคยกันดี อย่าง Shopee หรือ Lazada ซึ่งได้รวบรวมข้อมูล บิ๊ก ดาต้า ที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมการเข้าชมและเลือกซื้อสินค้าผ่านเซิร์ช เอ็นจิ้น (Search Engine) ข้อมูลการซื้อในอดีต การเปรียบเทียบราคาสินค้าคู่แข่ง จำนวนสินค้าคงเหลือ การคาดการณ์ความพอใจของลูกค้าต่อระดับราคาสินค้าต่าง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอสินค้าแบบอัตโนมัติที่สามารถปรับเปลี่ยนราคาแบบเรียลไทม์ (Price Engine) และจัดวางในจุดที่ลูกค้ามองเห็นถึงคุณค่า (Value) ของสินค้า ซึ่งช่วยเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจจากการที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น

ส่วนเครื่องมือที่ดีที่สุดในการวิเคราะห์และแสดงผลข้อมูล คุณกอร์ปสินธุ์ ให้ความเห็นว่า คือ เครื่องมือใดก็ได้ที่ทำให้ผู้พัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลทำงานได้สะดวก ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้งานข้อมูลได้ง่าย สามารถรองรับปริมาณข้อมูล บิ๊ก ดาต้า ที่มีอยู่อย่างเพียงพอ อยู่ในงบประมาณ และสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจได้อย่างแท้จริงแต่หัวใจที่สำคัญกว่า คือ ผู้ซึ่งทำหน้าที่ในการวิเคราะห์และอ่านผลข้อมูล ที่ต้องรู้ลึกถึงเทคนิคการประมวลผลข้อมูล และตรวจสอบได้ว่า ข้อมูลที่เข้าสู่ระบบการวิเคราะห์นั้นถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ทั้งต้องเชี่ยวชาญการใช้เครื่องมือในการเชื่อมโยง แปลผล และนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่าง ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดให้กับแบรนด์ หรือตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจได้อย่างแท้จริง

ตัวอย่างเครื่องมือพื้นฐานที่ง่ายแต่ได้ผลลัพธ์มหัศจรรย์คือ MS. Excel และ MS. PowerPoint เพราะมีฟังก์ชั่นหลากหลายทั้งแบบพื้นฐาน และขั้นสูง ได้รายละเอียดครบถ้วนทั้งตารางข้อมูล กราฟ ทั้งยังทำงานได้ง่ายและคล่องแคล่วบนเครื่องเดสก์ท็อป หรือ แท็บเล็ต จึงเหมาะสำหรับงานด้านการวิเคราะห์ แต่อาจไม่เหมาะกับการนำเสนอเพื่อบอกเล่าเรื่องราว ยกเว้นจะมีการติดตั้งโปรแกรมอัตโนมัติ เช่น VBA (Visual Basic for Applications) เพิ่มเติม หรือ การนำเสนอแบบแดชบอร์ด (Dashboard) ซึ่งผู้ใช้งานสามารถจัดปรับข้อมูลในมุมมองที่เข้าใจง่าย เป็นไปตามเงื่อนไขที่เลือก รวมถึงอัพเดทความเคลื่อนไหวของข้อมูลต่าง ได้เอง แต่จะเหมาะสำหรับผู้ใช้งานที่มีความเข้าใจในชุดข้อมูลนั้นอยู่แล้ว

หากปัจจุบัน การแปลผลวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอในรูปแบบ การบอกเล่าเป็นเรื่องราว (Data Storytelling) นับเป็นอีกแนวทางที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่ไม่ถนัด หรือไม่คุ้นเคยกับการตีความข้อมูลในรูปแบบตัวเลข ตาราง หรือกราฟต่าง ซึ่งเทคนิคการเล่าเรื่องที่มีพลัง จะต้องผ่านการเรียบเรียงถ้อยคำที่ไม่ใช่แค่ทำให้คน รู้สึก แต่ต้อง เข้าใจถึงความหมาย และ รับรู้ถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นใกล้ตัวผู้ฟัง จึงเหมาะสำหรับการเริ่มต้นเล่าเรื่องที่ผู้ฟังได้ยินครั้งแรก โดยควรเน้นเนื้อหาที่มีใจความสั้น กระชับ เข้าใจง่าย ผ่านการร้อยเรียงเรื่องราวแบบมีเหตุมีผล เพื่อตอบคำถามหรือนำเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง

คุณกอร์ปสินธุ์ สรุปปิดท้ายว่า  เมื่อองค์กรมีความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์และคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้งานข้อมูล บิ๊ก ดาต้า ที่จัดเก็บไว้ จนเข้าใจในธุรกิจของตนอย่างถ่องแท้แล้ว ย่อมส่งผลให้องค์กรสามารถมองเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจ และพร้อมรับมือกับปัญหาในทุกสถานการณ์ รวมถึงการปรับเปลี่ยนนโยบาย วิธีการบริหารจัดการ และการวางยุทธ์ศาสตร์การดำเนินงาน เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ที่พร้อมรุกไปข้างหน้า และยืนหนึ่งในฐานะผู้นำธุรกิจได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต