ทุกวันนี้ทั่วโลกต่างตระหนักมากขึ้นถึงการเปลี่ยนผ่านจากสังคม แอนะล็อก (Analog) สู่สังคมดิจิทัล (Digital) ซึ่งเริ่มส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นไปทุกที นั่นหมายความว่าตลาดแรงงานด้านสายงานไอทีจึงมีความจำเป็นมากขึ้นเป็นทวีคูณ

คำถามคือประเทศไทย มีบุคลากรด้านเทคโนโลยีเพียงพอรองรับการเติบโตด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะสายโปรแกรมเมอร์และดีเวลล็อปเปอร์ ซึ่งความรู้พื้นฐานที่ดีของการทำงานด้านนี้คือการเขียนโค้ด (Coding) นั่นเอง

coding

เครดิตภาพ: Kevin Ku

มีการศึกษาข้อมูลในสหรัฐอเมริกา พบว่ามีความต้องการสายงานด้านดิจิทัล สูงถึง 7 ล้านคน และ 20% ต้องการคนที่สามารถเขียนโค้ดได้ ซึ่งค่าตอบแทนนั้นหลายบริษัทยอมจ่ายเป็นรายได้ต่อปีให้สูงถึง 22,000 ดอลลาร์ (คิดเป็นเงินไทยราว 7 แสนบาท)

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่เฉพาะแค่บริษัทด้านเทคโนโลยีเท่านั้นที่มีความต้องการพนักงานที่มีทักษะการเขียนโค้ด แต่ยังรวมไปถึงในแวดวงธุรกิจอื่นๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเงิน ด้านสายการผลิต ด้านเฮลท์แคร์ และแม้แต่ด้านศิลปะการดีไซน์ ซึ่งคาดว่าความต้องการนั้นจะเติบโตมากขึ้นถึง 25% เป็นความต้องการที่เร็วกว่าตลาดแรงงานในภาพรวมด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการทักษะแรงงานด้านการเขียนโค้ดในประเทศที่พัฒนาแล้ว

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ มีข้อมูลพบว่าในสหรัฐฯ นักเรียนจำนวนมากเริ่มหันมาเรียนทักษะการเขียนโค้ดเพิ่มขึ้นถึง 25% แล้วเช่นกัน

เครดิตภาพ : Christina Morillo

หันมาทางฝั่งยุโรปและสหราชอาณาจักร ต่างเริ่มให้ความสำคัญกับทักษะด้านนี้เช่นกัน โดยมองว่า ‘Software is the language of our world’ หมายถึง ‘ภาษาซอฟท์แวร์จะกลายเป็นภาษาที่สื่อสารกันในอนาคตต่อไป’ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ซอฟท์แวร์จะกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของมนุษย์เรามากขึ้นทุกที และที่สำคัญ จะกลายเป็นภาษาสากลของโลกต่อไปในอนาคต จึงควรให้ความสำคัญตั้งแต่เด็กระดับชั้นประถม

ดังนั้น เมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา อังกฤษจึงกำหนดให้มี “ปีแห่งโค้ด” (Year of Code) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้ผู้คนเข้าถึงการเขียนโค้ดมากขึ้น และมองว่ามันเป็นอีกหนึ่งพลังของวิทยาศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์ (computer science) ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด และไม่ใช่แค่เผยแพร่ในอังกฤษแต่หมายถึงทั่วโลกด้วย

เครดิตภาพ : hitesh choudhary

กลับมาที่ประเทศไทย อย่างที่ได้เกริ่นไว้ว่าไทยเองมีการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมากเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการประกาศนโยบาย Thailand 4.0 ทำให้หลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัวกับเรื่องนี้มากขึ้น

เป็นเรื่องน่ายินดีที่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ริเริ่มโครงการ Coding Thailand โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ต้องการให้ประชาชนไทย ได้รับความรู้เรื่องการเขียนโค้ดโดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเรียนรู้อยู่ในห้องเรียน แต่สามารถเรียนรู้ได้ผ่านทั้งสมาร์ทโฟน โน้ตบุค หรือแม้แต่แท็บเล็ท พร้อมกับมอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เป็นผู้ดำเนินงานโครงการ Coding Thailand โดยพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ CodingThailand.org เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาการคอมพิวเตอร์ รวมถึงฝึกฝนกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล เพื่อเตรียมเข้าสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกับตั้งเป้าว่าโครงการ CodingThailand.org จะต้องเข้าถึงเยาวชนไทย 10,000,000 คนทั่วประเทศภายในระยะเวลา 3 ปี

“การส่งเสริมและพัฒนาให้ทรัพยากรบุคคลพร้อมเข้าสู่ยุคดิจิทัลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้วเยาวชนที่เป็นทรัพย์สินที่มีค่าสูงสุดของประเทศ กระทรวงดิจิทัลฯ จึงเชื่อมั่นว่าโครงการ Coding Thailand จะกลายเป็นศูนย์กลางความรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย เยาวชนและประชาชนทุกคนจะมีโอกาสได้เรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา และสามารถก้าวทัน เทคโนโลยี รู้เท่าทัน และสร้างสรรค์การใช้เทคโนโลยี ทั้งยังจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา และเศรษฐกิจ ด้วยมิติใหม่ของการเรียนรู้ จาก CodingThailand.org ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาทักษะพื้นฐานด้านการวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และใช้ความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและในการทำงานทุกอาชีพ ทั้งยังสามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลในระดับสูงต่อไป” ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวกับสื่อมวลชน

เครดิตภาพ : www.codingthailand.org

สำหรับโครงการ CodingThailand คือ รูปแบบการเรียนรู้ผ่าน Codingthailand.org ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการเรียนรู้แบบทางการและไม่เป็นทางการ (Formal & Informal Education) โดยเน้นเนื้อหาของบทเรียนด้าน coding ให้เข้ากับบริบทการศึกษาในชั้นเรียนระดับต่างๆ ควบคู่กับกิจกรรมสนุกสนานที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้นอกชั้นเรียน อีกทั้งยังมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และกิจกรรมเพิ่มเติม ที่มุ่งพัฒนาทักษะกระบวนการคิด ตลอดจนทักษะวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงต่อยอดการเรียนรู้ด้าน Coding เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่รูปแบบ Unplug หรือการเรียนรู้ที่ไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งเหมาะกับเด็กปฐมวัย อาทิ หลักสูตรการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายโดยใช้เกมเป็นสื่อ เรียนรู้การตรวจหาข้อผิดพลาดและแก้ไข

เครดิตภาพ : rawpixel.com

นอกจากนี้ ยังมีจัดกิจกรรมที่เรียกว่า Thaicode Hour กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ Coding ผ่านแพลตฟอร์ม CodingThailand.org ซึ่งมีต้นแบบมาจาก Hour of Code ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วทั่วโลก ในการส่งเสริมให้ทุกคนเริ่มต้นการ CODE ได้ง่ายๆ ในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเพียงพอต่อการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์ได้อย่างสนุกสนานและสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจในวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ตลอดจนพัฒนาไปสู่นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ได้ในอนาคต โดยมีแผนกิจกรรมสำหรับเยาวชนครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วไทย อีกทั้งยังมีการจัดแข่งขัน Coding Thailand Tournament ที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ด้าน Coding เข้ากับไลฟ์สไตล์ของเยาวชนไทยในปัจจุบัน ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการเรียนรู้ด้านดิจิทัลของเยาวชนไทยอย่างแท้จริง

เรียกได้ว่าประเทศไทยไม่น้อยหน้าต่างประเทศในเรื่องนี้เช่นกัน หรือว่านี่อาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องกระตุ้นลูกหลานเราให้สนใจการเขียนโค้ดอย่างจริงจังต่อไป.

ขอบคุณแหล่งข้อมูล : The Guardian / www.cbc.ca / www.usnews.com