ปี 2018 นี้ เราเชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมออนไลน์กันมากขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะฝาก ถอน หรือโอนเงินด้วยปลายนิ้วผ่านสมาร์ทโฟน นับเป็นความสะดวกสบายที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างแท้จริง และความล้ำสมัยยังไม่หยุดแต่เพียงแค่นี้ เมื่อเทคโนโลยี Blockchain กำลังจะทำให้ชีวิตของมนุษยชาติง่ายดายขึ้นอีกหลายลำดับขั้น
เครดิตภาพ: pixabay.com
แล้ว Blockchain คืออะไร ?
กล่าวอย่างเร็วที่สุดในมุมมองการนำมาประยุกต์ด้านการเงินมันคือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ซึ่งมีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินดิจิทัลหรือเอกสารดิจิทัลในหลายรูปแบบ จุดเด่นของ Blockchain คือการบันทึกข้อมูลแบบกระจายศูนย์ โดยที่ผู้ที่เกี่ยวข้องในระบบทุกคนจะทำการเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ไว้ด้วยตนเอง พร้อมช่วยกันตรวจสอบยืนยันและทำสำเนาข้อมูลเก็บไว้ ซึ่งแตกต่างจากระบบรวมศูนย์ที่อาศัยคนกลางในการเก็บ!
Blockchain นั้นมีลักษณะเป็นห่วงโซ่หรือ chain ตามชื่อเรียก และจะกระจายข้อมูลของผู้ใช้บริการไปยังที่อื่นๆ รวมถึงเราในฐานะห่วงโซ่หนึ่งจะรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดของคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน…คุณสมบัติดังกล่าวจึงทำให้ทุกคนที่อยู่ในห่วงโซ่ได้รับข้อมูลทั่วถึงอย่างเท่าเทียม
เมื่อไร้ตัวกลางจึงทำให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพราะเป็นการทำงานโดยระบบ ไม่ใช่โดยมนุษย์หรือบุคคลที่สามดังเช่นเคย รวมถึงสะดวกและรวดเร็วขึ้นด้วย ทำให้เทคโนโลยี Blockchain กลายเป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จในต่างประเทศ โดยเฉพาะเมื่อโลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสด
Blockchain ไม่ได้มีดีแค่ด้านการเงิน อีกมุมหนึ่งมันยังเป็นนวัตกรรมที่ ‘รักษ์โลก’
หลายคนอาจสงสัยว่าเหตุใดโครงข่ายดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรและความสมดุลย์ต่างๆ ในโลก!!!
ยกตัวอย่าง จากเรื่องใกล้ตัวที่สุดเช่นเรื่องการเกษตร ต้องพึ่งพาสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อย่างธรรมชาติ และโดยกระบวนการผลิตแล้วมันจำเป็นต้องอาศัยหลายสิ่งประกอบ ทั้งขนาดที่เหมาะสมของปุ๋ยและน้ำ ซึ่งแตกต่างกันออกไปตามระยะความใกล้และไกลจากแหล่งทรัพยากร บางแห่งอยู่ห่างไกลถึงขนาดที่เทคโนโลยีควบคุมน้ำและปุ๋ยไม่สามารถเข้าถึงได้
ความสามารถหนึ่งของ Blockchain คือเป็นเทคโนโลยีระบบโครงข่ายที่จัดเก็บฐานข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม มันสามารถ Track ข้อมูลต่างๆ ของเกษตรกรได้ โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นเจ้าของที่ดินขนาดเล็ก สามารถใช้ Blockchain จดจำพื้นที่ที่ดินของเขาและขึ้นตรงต่อการรับน้ำ รับปุ๋ยจากแหล่งทรัพยากร มากไปกว่านั้น มันยังจดจำและบันทึกวงจรของการทำปศุสัตว์ ทั้งยังแจ้งเตือนให้ระวังเรื่องโรคภัยติดต่อในหมู่สัตว์ให้แก่เจ้าของฟาร์มผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งในทางกลับกัน สามารถเก็บ บันทึกและส่งต่อข้อมูลเรื่องอาหาร สัตว์ในฟาร์ม โรคภัยต่างๆ กลับเข้าไปอยู่ในระบบห่วงโซ่ได้ด้วย
เครดิตภาพ: https://www.ibm.com/blogs/blockchain/2018/05/weather-wither-whether-how-blockchain-enables-precision-agriculture/
ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองต่างใช้เทคโนโลยี Blockchain สำหรับการจัดการทรัพยากรอาหาร เนื่องจากเป็นเมืองที่นำเข้าอาหารเฉลี่ยนับพันล้านเหรียญฯ เข้าประเทศต่อปี และล่าสุด รัฐบาลได้เล็งเห็นแนวทางการจัดการฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์และทำให้การจัดเก็บ การนำเข้าอาหารในประเทศนั้นดียิ่งขึ้น นั่นคือการป้อนข้อมูลที่จำเป็นต้องได้รับการบันทึกไว้ในห่วงโซ่ของ Blockchain เพื่อจดจำว่าสั่งซื้ออาหารประเภทใดจากประเทศไหนในโลก นำออกไปจัดจำหน่ายเมืองอะไร และเมื่อไหร่ที่อาหารต่างๆจะเริ่มเน่าเสีย เพื่อจะได้มีเวลาจัดการได้ทันท่วงที
เครดิตภาพ: https://www.ibm.com/blogs/blockchain/2018/02/one-nations-move-to-increase-food-safety-with-blockchain/
ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูลโดยไม่มีตัวกลาง และส่งผ่านข้อมูลเหล่านั้นไปยังห่วงโซ่ต่างๆ อย่างเท่าเทียมของ Blockchain ยังใช้ในการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ด้วย เพราะในนาทีนี้ โลกกำลังตื่นตัวกับการอนุรักษ์เผ่าพันธุ์สัตว์ ทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ต้องหารือกันอย่างเคร่งครัดว่าสัตว์และพืชชนิดใดบ้างที่อยู่ในภาวะต้องเร่งอนุรักษ์ไว้โดยเร็ว
“หากเราต้องการป้องกันไม่ให้การสูญพันธุ์เกิดขึ้น เราต้องปกป้องดูแลอย่างถูกที่ ถูกสายพันธุ์ ไม่ใช่แค่ในบริเวณใดบริเวณหนึ่ง” ลี่ปิงปิง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากมหาวิทยาลัยดุ๊กคุนซานในประเทศจีน แสดงความเห็น การระบุข้อมูลลงในห่วงโซ่ เพื่อกระจายความรู้และเรื่องราวสำคัญเกี่ยวกับสายพันธุ์สัตว์และพืชให้นักวิจัยในที่อื่นๆ ได้ทราบจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก
เวลานี้ Blockchain นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า ได้ข้ามพ้นการเป็นนวัตกรรมมาแรงเฉพาะในแวดวงการเงินเท่านั้น หากแต่มันยังขยับขยายไปสู่แวดวงอื่นที่โยงใยกับธรรมชาติได้อีกด้วย
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : www.ibm.com / www.weforum.org