Part 3: Fintech Strategy

ความหมายที่แท้จริงของคำว่า Open

Michael Araneta, Associate Vice President, Head of Research & Consulting จาก IDC Financial Insights APAC กลับขึ้นมาบนเวทีอีกครั้งว่าด้วยเรื่องของ Open Banking.

Araneta เผยถึงปรากฏการณ์ของ Open Banking ที่เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างแพร่หลายไปทั่วโลก ซึ่งในภูมิภาคยุโรปได้มีการส่งเสริมระบบ “Open Banking Framework” อย่างแพร่หลาย ในประเทศไทยเอง ธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนา API เป็นอย่างมาก หัวข้อ Open Banking เริ่มเป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของธุรกิจประกันภัย การจัดการการเงิน การจัดการกองทุน หรือแม้กระทั่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งนี่เป็นนิมิตรหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อวงการธุรกิจเหล่านี้ในอนาคต

โดยหากกล่าวถึง Open Banking แล้ว ก็จะมี 3 ปัจจัยหลักด้วยกันคือ:

1. การที่สถาบันทางการเงินสามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น – ซึ่งรวมถึงการทำความเข้าใจลูกค้าจากมุมมองของลูกค้าคนในคนหนึ่ง การสะสมข้อมูล รวมถึงข้อมูลทางด้านความรู้สึก การใช้ประโยชน์จากข้อมูล การนำข้อมูลส่วนตัวมาใช้ในเชิงบูรณาการ และการแบ่งสัดส่วนตลาดของลูกค้าอย่างจำเพาะเจาะจงมากขึ้น

2. การแยกส่วนธุรกิจ – ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการแยกส่วนธุรกิจการเงินออกมา เพื่อส่งมอบให้บริษัท FinTech ได้เข้ามามีส่วนร่วมในฐานะบุคคลที่สามเพื่อทำการ outsource กระบวนการทำงานบางส่วน แต่ในขณะเดียวกัน การแยกส่วนธุรกิจได้ส่งผลให้เกิดความต้องการในการประกอบส่วนต่าง ๆ เข้าใหม่อีกครั้งตามความเหมาะสม ซึ่งนับเป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใหม่ ๆ ได้เช่นเดียวกัน

3. การเชื่อมโยงธุรกิจกับบุคคลที่สามที่เชื่อถือได้ – ในส่วนนี้คือส่วนที่นโยบายทางด้าน Open API จะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะการใช้ Open API จะสามารถทำให้สถาบันทางการเงินสามารถประกอบส่วนต่าง ๆ ของธุรกิจเข้าด้วยกันใหม่อีกครั้งจากการเชื่อมโยงธุรกิจกับบุคคลที่สาม ซึ่งนโยบายเรื่อง Open API ของสถาบันการเงินอาจมาในรูปแบบของ internal API partner API หรือ external API และในอนาคต เราอาจเห็นรูปแบบธุรกิจที่จะเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างธุรกิจและโปรแกรมเมอร์ (Business-to-Developer หรือ B2D) เพิ่มมากขึ้น

ในปี 2018 เทรนด์ที่เราเพิ่มเห็นมากขึ้นคือเทรนด์ของภูมิภาคาภิวัตน์ (Regionalization) หรือการให้ความร่วมมือกันระหว่างประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน ในขณะที่ในประเทศจีนและอินเดีย เริ่มมีการขจัดคนกลางออกไปมากขึ้นจากการพัฒนาของเทคโนโลยี และองค์ประกอบหลัก 3 ประการที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของไอเดียก็คือ:

โดยในอนาคต เราเริ่มเห็นการแยกส่วนของธุรกิจและการประกอบเข้าด้วยกันใหม่ของธุรกิจด้านการให้บริการทางการเงินมากยิ่งขึ้น เราจะเห็นการ outsource ส่วนงานให้กับบุคคลที่สามเพิ่มมากขึ้น และจะเริ่มเห็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล แลกเปลี่ยนกระบวนการทำงานจาก API เพิ่มมากขึ้น

เวทีอภิปราย: เทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคต

คุณ Araneta ได้เชิญผู้เข้าร่วมอภปราย FinTech ทั้ง 3 ท่าน คือ Wichit Srikreephuthana, Director, Professional Services and Deliver จาก SAS Software (Thailand) Co., Ltd. คุณจาริตร์ สิทธุ Head of Partner Success – Indochina จาก LenddoEFL และ คุณธนศักดิ์ ฮุ่นตระกูล ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ FairDee Insurtech Co., Ltd. ขึ้นมาบนเวทีอภิปราย ว่าด้วยเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินในอนาคต

โดยคุณ Araneta ได้เริ่มจากการให้ทั้ง 3 ท่านแนะนำธุรกิจของตัวเอง โดยเริ่มจากคุณจาริตร์ จาก LenddoEFL คุณจาริตร์อธิบายถึงที่มาที่ไปและการรวมตัวกันระหว่างบริษัท 2 บริษัทคือ บริษัท Lenddo ซึ่งเป็นบริษัทที่ให้บริการทางการเงินกับกลุ่มคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการทางการเงินของสถานบันการเงินได้ในประเทศฟิลิปปินส์ และบริษัท EFL ซึ่งเป็นผลพวงของงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยเป็นบริษัทที่ทำการส่งเสริมการเข้าถึงการให้บริการทางการเงินของผู้คนในอเมริกาใต้ ธุรกิจหลักของ LenddoEFL คือการให้บริการทางด้าน e-KYC ให้กับสถาบันทางการเงินโดยการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าเพื่อช่วยให้สถาบันทางการเงินสามารถทำความเข้าใจลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ซึ่ง LenddoEFL ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ของลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ รวมถึงวิธีการในการบริหารจัดการแอพพลิเคชั่นด้านการเงินของลูกค้า

ในส่วนของ FairDee คุณธนศักดิ์เผยว่า FairDee คือบริษัท InsurTech ที่จะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในราคาที่จับต้องได้มากขึ้นและยุติธรรมมากขึ้นสำหรับทุกคนด้วยกลไกดิจิทัล FairDee เปิดตัวขึ้นใน 2 ประเทศพร้อม ๆ กัน คือ ประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ โดยรูปแบบการทำงานของแอพพลิเคชั่นคือ จะเริ่มจากการจับกลุ่มผู้ใช้งานเข้าด้วยกัน และทำการวิเคราะห์พฤติกรรมในการขับขี่ของผู้ใช้งานเพื่อทำการประเมินเบี้ยประกันจากการให้คะแนนความประพฤติของคนขับ โดย FairDee จะสามารถประเมินคะแนนของคนขับได้จากประวัติการเคลมประกัน โดยมีนโยบายคืนเงิน 15% หากไม่มีการเคลมเกิดขึ้น นอกจากนั้น การจับกลุ่มผู้ขับขี่เข้ากับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนฝูง หรือคนในครอบครัว ยังสร้างความกดดันให้ผู้ขับขี่ปรับปรุงพฤติกรรมการขับขี่ของตนเองให้ดีขึ้นอีกด้วย
คุณธนศักดิ์เผยว่า หากทำการเปรียบเทียบอัตราในการเคลมเอาประกันของประเทศไทย เทียบกับสิงคโปร์และมาเลเซียแล้ว ไทยมีอัตราการเคลมประกันสูงถึง 65% ในขณะที่สิงคโปร์และมาเลเซียมีอัตราการเคลมอยู่ที่ 17% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งคุณธนศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุของอัตราการเคลมที่สูงมากของไทยนั้น เป็นเพราะอุปนิสัยในการเคลมของคนไทย ที่มักจะเรียกร้องสิทธิ์จากบริษัทประกันในการซ่อมสีหรือรอยขีดข่วน ซึ่งเป็นการเคลมเอาประกันเพื่อความสวยงามของรถมากกว่าการเคลมจากการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสาเหตุมาจากการขาดโครงสร้างในการบริหารจัดการข้อมูลการให้บริการประกันภัยของประเทศไทย ทำให้บริษัทไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลการเคลมเอาประกันย้อนหลังของลูกค้าจากบริษัทอื่น ๆ ได้

ในขณะที่คุณวิชิตจาก SAS Thailand ได้เผยว่า ยุคนี้นับว่าเป็นยุคทองของ SAS Thailand ด้วยบริษัท FinTech ส่วนใหญ่ล้วนถูกสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นจึงมีความต้องการสูงในการประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งระบบการประมวลผลของ SAS Thailand จะสามารถช่วยให้การทำงานของบริษัท FinTech มีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยประหยัดต้นทุนและเป็นทางเลือกในการป้องกันการฉ้อโกงอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คุณวิชิตได้เผยถึงความท้าทายในการทำงานในประเทศไทย เนื่องจากการบันทึกข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยยังทำได้ไม่ดีนัก ส่งผลให้การจัดการข้อมูลทำได้ยากและค่อนข้างใช้เวลา แต่เพราะเหตุนี้ จึงส่งผลให้เกิดความต้องการของผู้ประกอบการยุคใหม่ ที่ต้องการที่จะสามารถจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว

จากนั้น คุณ Araneta ได้ถามผู้ประกอบการ FinTech Startup ทั้ง 2 ท่านถึงข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับสถาบันทางการเงิน โดยคุณธนศักดิ์ได้เริ่มเล่าถึงความยากลำบากในการทำงานร่วมกับบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ของ FairDee ซึ่งปัญหาหลักที่พบคือ – ความขาดแคลนระบบ Open API เพื่อเข้าถึงข้อมูลของบริษัทประกันภัยเหล่านั้น ซึ่ง FairDee นับว่าเป็นบริษัท startup ที่มีพัฒนาการค่อนข้างเร็ว โดยปัจจุบันกำลังระดมทุน Series ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเปิดให้บริการได้เพียง 3 เดือน ดังนั้นจึงไม่สามารถที่จะรอกระบวนการการทำงานที่ล่าช้าของบริษัทประกันแต่ละบริษัทได้ คุณธนศักดิ์จึงได้ฝากข้อความทิ้งท้ายถึงผู้ประกอบการบริษัทประกันภัยทุกท่าน ว่าบริษัทประกันภัยควรเริ่มพิจารณาการเปิด Open API เพื่อให้ InsurTech สามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อส่งเสริมการสร้างโอกาสทางด้านนวัตกรรมให้เปิดกว้างมากขึ้น

ในส่วนของ LenddoEFL นั้น คุณจาริตร์ได้เผยถึงความท้าทายของ LenddoEFL ซึ่งเป็นบริษัทซอฟท์แวร์ที่ให้บริการสถาบันทางการเงินและการธนาคารทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนั้นพวกเขาจึงไม่สามารถที่จะเลี่ยงการทำงานร่วมกับสถาบันทางการเงินและการธนาคารได้เลย คุณจาริตร์ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ LenddoEFL ที่เริ่มจากการเดินเข้าไปติดต่อสถาบันการเงินหลายสถาบันเพื่อขอความร่วมมือ แต่ทุก ๆ บริษัทที่พวกเขาเข้าไปติดต่อล้วนไม่พร้อมเปิดโอกาสที่จะให้เกิดการร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้น พวกเขาจึงไม่มีทางเลือกมากไปกว่าการดำเนินงานด้วยศักยภาพของพวกเขาเอง จนเวลาผ่านไปจึงได้เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและได้ร่วมมือกับสถาบันการเงินมากขึ้น แต่อุปสรรคหลักยังคงเป็นในเรื่องของกระบวนการการทำงานของสถาบันการเงินที่มักจะล่าช้าเป็นอย่างมาก อาทิเช่น โดยปกติแล้ว กว่าจะได้การลงนามเพื่ออนุมัติโครงการ พวกเขาจะต้องรอถึง 3 เดือนกว่าจะล่าลายเซ็นครบ 9 ใน 10 ของลายเซ็นทั้งหมดที่พวกเขาต้องการ และใช้เวลาอีกประมาณ 9 เดือนเพื่อที่จะได้ลายเซ็นชื่อสุดท้ายเพื่อให้การอนุมัติโครงการเสร็จสมบูรณ์ คุณจาริตร์เผยว่า สาเหตุที่การทำงานกับธนาคารมักจะล่าช้าเพราะพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงการที่ LenddoEFL เป็นบริษัท startup ซึ่งไม่ควรจะต้องใช้กระบวนการในการประเมินกระบวนการเดียวกับการประเมินบริษัทที่ก่อตั้งมานานแล้ว

ซึ่งคุณ Araneta ได้หันไปถา FairDee ต่อถึงการถูกประเมินโดยสถาบันทางการเงิน ซึ่งคุณธนศักดิ์ได้เผยว่า จากการที่เขาอยู่ในวงการนี้มานานกว่า 2 ปี ได้รับการติดต่อเข้ามาจากบริษัทประกันภัยระดับโลกบริษัทหนึ่ง ที่ต้องการจะขอซื้อธุรกิจของเขา ธุรกิจที่มีพนักงานทำงานอยู่ทั้งหมด 12 คน “ผมสงสัยว่าสมัยนี้มันคงจะหาคนอยากเข้าไปทำงานในองค์กรยากขึ้นละมั้ง” คุณธนศักดิ์กล่าวถึงการที่เขาได้ทำการปฏิเสธข้อเสนอนั้นไป

จากนั้น คุณ Araneta ได้หันไปถามคุณจาริตร์ต่อถึงความพยายามของเขาในการทำงานร่วมกับสถาบันการเงินได้ดีขึ้น ซึ่งคุณจาริตร์ตอบว่า “เดี๋ยวนี้โลกมันเปลี่ยน เราน่ะพร้อมซะยิ่งกว่าพร้อมที่จะร่วมมือกับพวกคุณ แต่เราอยากให้พวกคุณรู้สึกว่าคุณต้องการเราเหมือนกัน เราค่อนข้างเปิดกว้างนะ ในแง่ของการให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้น หากสถาบันการเงินจะเปิดโอกาสในการให้ความร่วมมือได้ง่ายขึ้น เราน่าจะร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้มากยิ่งขึ้นเช่นกัน”
คุณธนศักดิ์กล่าวเสริม “บอกเราสิ ว่าคุณต้องการอะไร KPI ของคุณคืออะไร เราจะได้กลับไปคิดว่าเราจะช่วยคุณบรรลุเป้าหมายและ KPI ของคุณได้อย่างไรบ้าง”
ปิดท้ายด้วยคุณวิชิต ที่กล่าวเสริมขึ้นมาว่า “สุดท้ายแล้วผมอยากจะให้ทุกคนเข้าใจว่า ด้วยพลังของการทำความเข้าใจและวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ประกอบการ FinTech เหล่านี้สามารถที่จะพัฒนาศักยภาพทางด้านการแข่งขันบนเวทีระดับโลกได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นสถาบันการเงินและบริษัทใหญ่ ๆ ควรจะต้องปรับตัวเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ผมจึงอยากจะฝากเอาไว้ว่า ในยุคดิจิทัลนี้ คุณควรจะเริ่มจากก้าวเล็ก ๆ ล้มเหลวให้เร็ว และลุกขึ้นมาเริ่มใหม่อีกครั้ง”

กล่าวปิดงาน – กลไกแห่งความสำเร็จของสถาบันการเงินในประเทศไทย ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ในยุคดิจิทัล

เวที IDC FinTech Summit ได้มาถึงช่วงท้าย โดยคุณพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. หลักทรัพย์ บัวหลวง ได้ขึ้นมากล่าวถึงกลไกในการสร้างความสำเร็จของวงการการเงินของประเทศไทย ในมุมมองของบริษัทหลักทรัพย์ โดยคุณพิเชษฐ เผยว่าปัจจุบันรายได้หลักของบริษัทหลักทรัพย์ยังคงเป็นการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ รองลงมาคือการเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ ตามด้วยการซื้อขายหลักทรัพย์ และปันผล ดอกเบี้ย และอื่น ๆ และถึงแม้ว่าสัดส่วนของตลาดยังเป็นที่ยอมรับได้ แต่รายได้จากการให้บริการของนายหน้าในการซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด

โดยใน 2 ปีที่ผ่านมา คุณพิเชษฐเผยว่าได้มีการไหลออกของเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักลงทุนต่างชาติในที่นี้ก็หมายรวมถึงนักลงทุนไทยที่ทำการเปิดบัญชีซื้อขายในต่างประเทศ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติได้แก่ การหมุนเวียนของเงินทุนข้ามเขตแดน การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน เราเริ่มเห็นบทบาทที่สำคัญของบริษัท FinTech ที่มีเพิ่มมากขึ้น อาทิเช่นการพัฒนาเครื่องมือในการลงทุนสำหรับนักลงทุนรายย่อย การให้ความรู้ทางด้านการลงทุน และระบบบริหารความสัมพันธ์ของลูกค้า

หนึ่งในกลไกของความสำเร็จของวงการการซื้อขายหลักทรัพย์ก็คือการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต และ smartphone ซึ่งทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์ทำได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งนี้จากการจับมือร่วมกับบริษัทต่างชาติ บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง คาดว่าจะสามารถพัฒนาเครื่องมือที่ทันสมัยและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนได้ดียิ่งขึ้น

ในส่วนของค่าธรรมเนียมและค่าบริการนั้น คุณพิเชษฐกล่าวว่า เราเริ่มที่จะเห็นบทบาทที่สำคัญของบริษัท FinTech ในการเข้ามาแทรกแซงในส่วนนี้มากยิ่งขึ้น อาทิเช่นการเสนอเครื่องมือวิเคราะห์สำหรับประกอบการตัดสินใจในการลงทุน ซึ่งเข้ามาแทรกแซงการให้บริการของนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ในขณะเดียวกันเริ่มมีพัฒนาการของผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนเพิ่มมากขึ้น อาทิ Initial Coin Offerings (ICOs) การระดมทุนในรูปแบบของ crowdfunding การให้บริการแพลตฟอร์ฒ Peer-to-Peer และการให้บริการด้านการวางแผนทางการเงินอย่างครบวงจร รวมถึงการเพิ่มบทบาทของ AI และ Machine Learning ในส่วนของการซื้อขายหลักทรัพย์

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของเทคโนโลยีเหล่านี้นับว่าสร้างประโยชน์ให้กับวงการการให้บริการทางการเงินเป็นอย่างมาก จากการก่อให้เกิดโอกาสในการสร้างนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นนโยบายด้านการส่งเสริม FinTech จึงนับเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสถาบันการเงินและการธนาคาร

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: IDC FinTech Innovation Summit 2018