Part 1: Regulator Perspective

“ในวันนี้ สิ่งที่เราต้องการคือการทำความเข้าใจว่าเราจะทำงานร่วมกับ FinTech ได้อย่างไร มากกว่าการที่จะมากลัวว่า FinTech จะมาแข่งขันกับเรา” – Michael Araneta, Associate Vice President, Head of Research & Consulting, IDC Financial Insights APAC กล่าวในการเปิดตัวของเวที IDC FinTech Innovation Summit 2018 ณ โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ที่ผ่านมา เวทีนี้ได้รวบรวมผู้ที่มีบทบาทสำคัญในวงการการเงินและการธนาคารของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย เพื่อที่จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถึงการวางแผนความร่วมมือและการวางกลยุทธ์เพื่อรับมือกับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเงินในอนาคต

คุณ Araneta ได้เริ่มเปิดประเด็นถึงหัวข้อหลักของการเสวนาในงาน IDC FinTech Innovation Summit 2018 เริ่มจากคุณบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะมาพูดถึงเรื่องการแข่งขันกันระหว่างผู้ควบคุมกฎเกณฑ์และนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศในภูมิภาคในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน นอกจากนั้น ภายในงาน ยังจะมีการพูดถึงมุมมองของตลาดทางด้านการเงินในอนาคต การวางกลยุทธ์ และผลการศึกษาของ IDC ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก การพูดถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของ FinTech การค้นหาโอกาสในการสร้างนวัตกรรม และหลักการของนโยบาย Open Banking และ Open Service

ธุรกิจในรูปแบบเปิดกว้าง: ความพร้อมของประเทศไทยกับความร่วมมือ

แขกรับเชิญท่านแรกในงาน IDC FinTech Innovation Summit 2018 ได้แก่ คุณบัญชา มนูญกุลชัย ผู้อำนวยการ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ได้ทำการเปิดเวทีด้วยการพูดถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการพัฒนานโยบายส่งเสริม FinTech ซึ่งคุณบัญชาได้เผยถึง 3 แรงขับเคลื่อนหลักในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินดังนี้:

โดยมี 6 เทคโนโลยีที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินดังนี้:

1. QR Payment – ระบบการชำระเงินด้วย QR Code
ระบบการชำระเงินด้วย QR Code เป็นรูปแบบการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์รูปแบบหนึ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยในการใช้จ่ายของผู้คนเป็นอย่างมากในขณะนี้ ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เห็นได้ชัดในกลุ่มพ่อค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก ปัจจุบันพบว่าระบบการชำระเงินด้วย QR Code เริ่มมีการขยายการใช้งานในวงกว้างในกลุ่มผู้ค้าขายในระดับท้องถิ่น

2. Blockchain – เทคโนโลยี Blockchain
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะยังนับว่าใหม่อยู่ในขณะนี้ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นได้ว่าเทคโนโลยี Blockchain นั้นมีพัฒนาการที่รวดเร็วมาก และยังคงเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยี Blockchain ไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะในเรื่องของการค้าขายระหว่างเขตแดน โดยใน Sandbox ของธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็มีกลุ่มธุรกิจ Blockchain อยู่หลายบริษัทที่กำลังทำการทดสอบการให้บริการในวงจำกัดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำมาใช้งานจริงในสภาพแวดล้อมปกติ

3. Biometrics – การใช้ข้อมูลทางชีวภาพ
Biometrics หรือการใช้ข้อมูลทางชีวภาพได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในระบบการยืนยันตัวตนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-KYC โดยเฉพาะในการพัฒนาโครงการสร้างระบบข้อมูลประจำตัวประชาชนดิจิทัล (Digital ID Project) ของประเทศไทย

4. Big Data/Data Analytics – การประมวลข้อมูล Big Data
ข้อมูลดิจิทัลกำลังเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้นกับชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อมีข้อมูลมากขึ้น สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มเห็นความสำคัญของการทำความเข้าใจข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้เพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการรายบุคคลของลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น

5. Machine Learning/AI – สมองกลและปัญญาประดิษฐ์
ด้วยจำนวนข้อมูลดิจิทัลที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาล คำถามต่อไปก็คือ เราจะใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างไร? ซึ่งคำตอบก็คือ การใช้ประโยชน์จากสมองกลและปัญญาประดิษฐ์ (Machine Learning หรือ AI) บริษัท FinTech หลายบริษัทเริ่มมีการนำ AI มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเทคโนโลยีชนิดนี้จะเริ่มมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในอนาคต

6. Standard/Open APIs
ในขณะที่ยุโรปกำลังส่งเสริมการสร้างระบบเชื่อมต่อระหว่างโปรแกรมรูปแบบเปิด หรือ Open Application Programming Interface (API) แต่ในกรณีของประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีนโยบายในการสนับสนุนการสร้างระบบเชื่อมต่อระหว่างโปรแกรมแบบมาตรฐาน หรือ Standard API เพื่อง่ายต่อการนำมาใช้งานและมีประสิทธิภาพสูงสุด

การจัดตั้งสภาพแวดล้อมเพื่อทดสอบ FinTech ในระบบ Sandbox
คุณบัญชาได้กล่าวถึงบทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการควบคุมความเสี่ยงและการจัดการความมั่นคงทางการเงิน ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทยยังต้องทำการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินอีกด้วย ด้วยพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น คำถามหลักของธนาคารฯ คือ จะทำอย่างไรให้ผู้คนเหล่านี้สามารถใช้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่เหล่านี้ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นคุณบัญชาจึงได้กล่าวถึงเป้าหมายของการสร้าง Ecosystem ที่ยั่งยืนเพื่อรองรับ FinTech โดยมีอยู่ 3 หัวข้อหลักดังนี้:

และสิ่งสำคัญในการที่จะสามารถบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ข้อได้คือ 1. กฎเกณฑ์ที่รองรับ 2. โครงสร้างพื้นฐานที่เปิดกว้างและเชื่องโยง สอดประสานกัน 3. ระบบ Ecosystem ที่รองรับ FinTech 4. การส่งเสริมความรู้และความเข้าใจในเรื่องของการให้บริการทางการเงิน

ธนาคารแห่งประเทศไทยกับบทบาทของการสร้างความร่วมมือ
เพื่อเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้มีความพยายามที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ที่มีบทบาทในวงการ FinTech เพื่อที่จะผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมเข้าสู่ตลาดได้มากยิ่งขึ้น

1. พร้อมเพย์ (PromptPay)
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการผลักดันการบริการโอนเงินในรูปแบบของพร้อมเพย์ (PromptPay) โดยมีผู้ใช้บริการมากถึง 44 ล้านคน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นจำนวนมาก และเมื่อมีผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อย ๆ การให้บริการพร้อมเพย์มีการใช้งานในรูปแบบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการผลักดันการให้บริการการโอนเงินข้ามเขตแดน (Cross-Border Payment)

2. QR Code มาตรฐาน
หากลองสังเกตดู จะพบว่าในหลายประเทศเริ่มมีการใช้งานระบบการชำระเงินผ่าน QR Code มากขึ้น อย่างไรก็ตามคุณบัญชาได้กล่าวถึงข้อจำกัดของ QR Code เนื่องจากแต่ละบริษัทมักจะใช้ QR Code ที่แตกต่างกัน ทำให้การโอนเงินระหว่างกันไม่มีมาตรฐานและทำให้เติบโตได้ยาก ดังนั้นธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเห็นสมควรที่จะผลักดันการสร้าง QR Code แบบมาตรฐานที่จะสามารถใช้ได้อย่างสากลในการโอนเงินระหว่างองค์กร ซึ่งนโยบายนี้จะทำให้สถาบันด้านการเงินและการธนาคารสามารถให้บริการการโอนเงินได้อย่างทั่วถึง และยังเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างเขตแดนอีกด้วย นอกจากนี้ ระบบชำระเงินผ่าน QR Code ยังสามารถทำให้เกิดความสะดวกสบายในการโอนเงินในจำนวนน้อยในระดับ 5 บาท 10 บาท ได้ง่ายยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าในประเทศไทยหันมาใช้บริการการชำระเงินผ่าน QR Code สูงถึง 2 ล้านรายภายในระยะเวลาอันสั้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือ ออฟไลน์ ซึ่งการให้บริการการชำระเงินผ่าน QR Code ยังขยายวงไปถึงการชำระเงินในภาครัฐ การชำระเงินภายในโรงเรียน หรือแม้กระทั่งผู้ให้บริการรถสาธารณะ

3. การบริจาคเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Donation)
คุณบัญชายังกล่าวถึงความสะดวกสบายในการรับเงินบริจาคผ่านระบบการชำระเงินผ่าน QR Code ส่งผลให้การระดมทุนเผื่อการกุศลสามารถเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

4. Digital ID & e-KYC
หนึ่งในวัตถุประสงค์ของโครงการ Digital ID แห่งชาติคือการสร้างกลไกในการเชื่อมโยงแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้เข้าด้วยกัน เพื่อเปิดทางให้เกิดช่องทางในการยืนยันตัวตนผ่านระบบออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย และนี่คือบทบาทสำคัญของระบบ Digital ID และระบบการยืนยันตัวตนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ในการร่วมกันสร้าง Ecosystem และพัฒนาบริการ Digital Banking เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน

5. การส่งเสริมเครือข่ายชุมชน Blockchain
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี Blockchain จะยังอยู่ในยุคเริ่มต้น แต่ก็นับเป็นเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงและคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการสร้างคุณค่าให้แก่การให้บริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาของ Blockchain มีอุปสรรคตรงที่ส่วนใหญ่แล้ว ระบบ Blockchain แต่ละระบบจะทำการสื่อสารระหว่างกันไม่ได้ ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังมองหารูปแบบการใช้งานของ Blockchain ที่จะสามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่ายยิ่งขึ้น การส่งเสริมเครือข่ายชุมชน Blockchain ในประเทศไทย ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางธุรกิจและความสามารถในการแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยี Blockchain โดยโปรเจคเริ่มต้น ดังเช่น โครงการ Letter of Guarantee (L/G)
คุณบัญชาได้พูดถึงความสำคัญของการให้ความร่วมมือระหว่างผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคารในการผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด ซึ่งนวัตกรรมจะเกิดขึ้นได้ยากหากไม่เกิดความร่วมมืออย่างสมบูรณ์ระหว่างกัน

ก้าวต่อไปของธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยบทบาทของการผลักดันนวัตกรรมทางการเงินคือการเปิดโอกาสในการพัฒนา และการพัฒนาสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาดังกล่าวผ่านกลไก 5 กลไกดังต่อไปนี้:

1. การคุมเข้มในเรื่องของกฎเกณฑ์ – เพื่อรักษาความมั่นคงและความเชื่อมั่นของส่วนรวม

2. การส่งเสริมEcosystem – โดยการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้ และการส่งเสริม Digital ID, e-KYC, การใช้ข้อมูลทางชีวภาพ และการส่งเสริมการใช้ระบบ Blockchain

3. การเพิ่มการใช้งานหรือการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ – เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

4. การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการด้านการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ – เพื่อพัฒนารูปแบบการชำระเงินในภาคธุรกิจ

5. การพัฒนาระบบการชำระเงินระหว่างเขตแดน – เพื่อส่งเสริมการค้าขายระหว่างเขตแดนด้วยระบบ QR Code และระบบการโอนเงินแบบพร้อมเพย์

ธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยกับการขับเคลื่อนนวัตกรรม


แขกรับเชิญท่านที่สองคือ ดร.อายุศรี คำบันลือ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายด้านความมั่นคงทางการเงิน สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ผู้ที่มาบรรยายถึงนโยบายการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีในภาคธุรกิจประกันภัย โดย ดร.อายุศรี ได้เปิดประเด็นถึง 4 ประเด็นหลักที่ CEO ส่วนใหญ่ในภาคธุรกิจประกันภัยเริ่มมีความกังวลคือ:

โดย ดร.อายุศรี ได้กล่าวถึงเทรนด์ใหม่ ๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยี InsurTech อาทิเช่น เทรนด์การให้บริการประกันภัยในรูปแบบ Peer-to-Peer การพัฒนา User-Experience Design (UX Design) เพื่อตอบโจทย์การพฤติกรรมของลูกค้าที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง การพิจารณาการรับประกันภัย Blockchain Smart Contract การทำ DNA Testing การใช้ระบบการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) และรูปแบบการเอาเงินประกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ดร.อายุศรี ยังได้ยกตัวอย่างผู้เล่นที่โดดเด่นในวงการ Insurance Technology (InsurTech) ของภูมิภาคเอเชียดังนี้:

1. Cuvva – ประกันภัยในรูปแบบ on-demand ที่ทำให้ผู้เอาประกันสามารถเปิดและปิดการคุ้มครองได้ตามความต้องการ

2. Brolly – การบริหารจัดการบัญชีประกันภัยทุกบัญชีของคุณโดยการเก็บและจัดการข้อมูลบัญชีประกันภัยของคุณ และใช้ระบบ AI เพื่อทำการวิเคราะห์และประเมินว่าคุณได้รับความคุ้มครองมากหรือน้อยเกินไปหรือไม่

3. Spixii – ประกันภัยในรูปแบบ chatbot เพื่อตอบทุกคำถามของคุณอย่างทันท่วงที

4. Frank – การให้ข้อมูลด้านประกันภัยรวทถึงการคำนวณเบี้ยประกันผ่าน chatbot
ธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัล

ดร.อายุศรี ได้กล่าวถึง 6 ประเด็นสำคัญที่บริษัทประกันภัยในยุคดิจิทัลจะต้องคำนึงถึง:

1. รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ
รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้กลายเป็นหัวข้อใหญ่ในวงการประกันภัยและวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในระยะเวลาที่ผ่านมา และถึงแม้ว่ารถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะยังไม่ได้มีการใช้งานในประเทศไทย แต่ก็นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่คาดว่าจะต้องเข้ามาในอนาคต ดังนั้น คปภ. จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเข้ามาของเทคโนโลยีดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งประเด็นหลักยังคงเป็นเรื่องของการระบุตัวตนของผู้รับผิดในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งหากเป็นยานพาหนะที่ไม่มีคนขับ การระบุตัวตนของผู้รับผิดอาจทำได้ยาก แต่เนื่องจากกรณีแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ในการเตรียมนโยบายเพื่อตั้งรับสถานการณ์ดังกล่าว คปภ. จึงจำเป็นต้องอ้างอิงข้อมูลจากประเทศที่มีการใช้งานจริง อาทิเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้มีการระบุระดับของการขับเคลื่อนรถยนต์อัตโนมัติไว้ 5 ระดับ โดยได้มีการกำหนดการระบุตัวตนผู้กระทำความผิดไว้แตกต่างกันในแต่ละระดับของการขับเคลื่อนอัตโนมัติ

เครดิตภาพ: National Highway Traffic Safety Administration

2. ผลกระทบต่อคนกลาง
ประเด็นหลักของเรื่องผลกระทบต่อคนกลางเช่นโบรกเกอร์ประกันภัย หรือพนักงานขายประกัน คงจะหนีไม่พ้นเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่จะเข้ามาแทนที่มนุษย์ ด้วยการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยี เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยี AI ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการให้บริการในวงการธุรกิจประกันภัย โดยมาช่วยในเรื่องของการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่รวดเร็วขึ้นระหว่างบริษัทและลูกค้า ดังนั้นการพัฒนาของเทคโนโลยีจึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการสร้างโอกาสในการขายระหว่างผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น และด้วยการนำข้อมูลดิจิทัลมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ เทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถช่วยให้งานของคนกลางอย่างโบรกเกอร์หรือพนักงานขายที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น

3. ธนาคารและธุรกิจประกันภัย
ปัจจุบันเราเริ่มเห็นธนาคารหลายธนาการเริ่มผันตัวมาขายผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัยมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายธนาคารไม่ได้มีความต้องการที่จะผันตัวมาเป็นโบรกเกอร์ประกันภัยโดยบริหารจัดการเสียเอง ธนาคารเพียงเห็นโอกาสในการเปิดตลาดเพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายมากขึ้นเท่านั้น

4. การเปลี่ยนแปลงทางด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค
ในปัจจุบัน นอกจากพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีแล้ว ตัวแปรสำคัญอีกตัวแปรหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมของผู้บริโภค ด้วยการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตที่ง่ายยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดการส่งต่อข้อมูลอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการปฏิสัมพันธ์กันได้รวดเร็วและง่ายยิ่งขึ้น เพราะเหตุนี้ ผู้บริโภคจึงแสวงหาการให้บริการที่มีความเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น

5. ความเสี่ยงด้านภัยคุกคามทางไซเบอร์
เพราะผลิตภัณฑ์ประกันภัยในปัจจุบันมักมีความเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภค ดังนั้นการป้องกันภัยจากการคุกคามทางไซเบอร์จึงนับว่ามีความสำคัญต่อธุรกิจประกันภัยในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

6. แนวทางของ คปภ.
เพื่อตั้งรับกับประเด็นต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้น คปภ. ได้มีความพยายามเป็นอย่างมากในการจัดการควบคุมระบบต่าง ๆ ของธุรกิจประกันภัย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการจัดตั้งฐานข้อมูลการให้บริการของบริษัทประกันภัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านการฉ้อโกง โดย คปภ. ได้มีนโยบายให้บริษัทประกันภัยกรอกข้อมูลที่จำเป็นเข้าสู่ระบบ เพื่อแลกกับการลดต้นทุนในการเสียค่าธรรมเนียมให้กับ คปภ.

นอกจากนี้ คปภ. ยังได้ออกกฎให้มีการว่าจ้างผู้ตรวจสอบระบบ IT ของบริษัท เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจทางด้านความปลอดภัยของข้อมูล และเช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย คปภ. ก็ได้จัดตั้งระบบทดลองในสภาวะที่ถูกควบคุม หรือ Sandbox เพื่อให้บริษัท InsurTech ต่าง ๆ ได้ทำการทดลองเพื่อควบคุมความเสี่ยงก่อนออกสู่ตลาดจริง โดยการเปิดพื้นที่ทดลอง หรือ Sandbox นี้ ยังเปิดโอกาสให้ คปภ. ได้ทำการทบทวนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ร่วมกับบริษัท InsurTech ในโครงการ เพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังได้มีการจัดตั้งศูนย์ CIT (Center of InsurTech Thailand) เพื่อสร้างแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักในวงการธุรกิจ InsurTech รวมถึงเพื่อสร้างพื้นที่ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างบริษัทประกันภัยและบริษัทด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมทางด้านประกันภัยต่อไปในอนาคต

โดยในช่วงท้ายของการบรรยาย ดร.อายุศรี ก็ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายของ คปภ. ในการร่างกฎเกณฑ์ที่มีความชัดเจนและเข้าใจง่าย เพื่อความสะดวกในการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางด้านประกันภัยหรือ InsurTech ต่อไป โดยจะต้องคำนึงถึงการบริหารความเสี่ยงและการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สูงสุดของส่วนรวม

ขอบคุณแหล่งข้อมูล: IDC FinTech Innovation Summit 2018