Initial Coin Offering หรือ ICO เป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่เริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้หลายคนอาจคุ้นชินกับ Initial Public Offering หรือ IPO ซึ่งเป็นการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่างเป็นกิจลักษณะ แต่ ICO จะเป็นการลงทุนที่ง่ายกว่านั้นและมีความเป็นสากลขั้นสุด

การจะออกหุ้น IPO บริษัทต้องมีหลักเกณฑ์มากมาย ทั้งในแง่มูลค่าของบริษัท หรือผลประกอบการที่ต้องเติบโตต่อเนื่อง และด้วยกฎเกณฑ์ที่วุ่นวายทำให้สามารถเปิดขายได้เฉพาะในประเทศไทย แต่ ICO เป็นโลกกว้างกว่านั้น คือสามารถเปิดขายได้ทั่วโลก จะเป็นธุรกิจประเภทใดก็ได้ ที่มีโครงการน่าสนใจมานำเสนอ เปิดเผยข้อมูลอย่างครบถ้วนผ่าน White Paper อันทำหน้าที่คล้ายหนังสือชี้ชวน และที่สำคัญ ICO สามารถซื้อขายกันได้โดยใช้เหรียญดิจิทัล ซึ่งเหรียญดิจิทัลดังกล่าวมีเทคโนโลยีบล็อคเชน (blockchain) อยู่เบื้องหลัง ในรูปแบบการเก็บข้อมูลโดยใช้เครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ของทุกคนที่อยู่ในระบบ ช่วยกันจดบันทึกการทำรายการของทั้งระบบพร้อม ๆ กันทุกครั้งที่มีการทำรายการ จึงทำให้การแก้ไขปลอมแปลงนั้นเกิดขึ้นได้ยาก เรียกใช้ข้อมูลได้ทั่วโลก มีระบบตรวจสอบที่มาที่ไปชัดเจน โปร่งใส คล้ายสมุดบันทึกเล่มเดียวที่คนอ่านได้ทั่วโลก

ด้านผลตอบแทนของ IPO นักลงทุนจะนำเงินไปแปลงเป็นหุ้น และเป็นผู้ถือหุ้นที่คอยรับปันผลของบริษัท ในขณะที่ ICO สามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น นักลงทุนนำเงินมาลงทุน ICO จะได้รับเหรียญ (Token) ที่บริษัทกำหนด เพื่อนำไปแลกหรือเป็นส่วนลดสินค้าและบริการของบริษัท หรือเข้าเป็นผู้รับสิทธิ์ รับส่วนแบ่งกำไรหรือเงินปันผลได้เช่นกันตามเงื่อนไขที่บริษัทนั้นๆ กำหนด

นอกจากนี้ด้วยความที่ ICO มีส่วนเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีที่ไม่สามารถจับต้องได้ ดังนั้นวิธีการตรวจสอบยังมีกระบวนการภายใต้การดำเนินงาน ทั้งกระบวนการการรู้จักลูกค้าที่สามารถระบุตัวตน หรือ KYC (Know Your Customer) และนโยบายด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of Terrorism: AML/CFT) เข้ามาร่วมด้วย

ด้านความเสี่ยงของ ICO คือ ความล้มเหลวของโครงการที่ระดมทุน อาจทำให้ Token ที่ได้รับมาสูญเปล่า รวมถึงความไม่ปลอดภัยทางเทคโนโลยีที่ไม่มีใครกล้ารับปากว่าจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นความเสี่ยงหลักของเงินสกุลดิจิทัลในปัจจุบัน

นายธนวัฒน์ เลิศวัฒนารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เกิดมาเพื่อฆ่าตัวกลาง ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและสะดวกในการทำธุรกรรม ข้อดี คือ โปร่งใส และปลอดภัย เพราะทุกธุรกรรมจะถูกบันทึก ไม่สามารถลบได้ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนำพาไปสู่การระดมทุน ICO ที่สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มหาศาล เป็นที่ยอมรับในระดับสากล อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษา White Paper และสิทธิประโยชน์ของ Token ให้ชัดเจน

การระดมทุน ICO ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกแนวทางการกำกับดูแลทรัพย์สินดิจิทัล ซึ่งมีใจความสำคัญถึงการกำกับดูแล ICO และ Digital Currency โดยตรง แต่หลายประเทศยังไม่มีการควบคุมที่ชัดเจน คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันแบบยาวๆ ว่าหลังจากนี้ ICO ในไทยจะได้รับความนิยมหรือไม่

ขอบคุณข้อมูล: สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กระทรวงต่างประเทศ และบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC)