“สิ่งที่สังคมไทยยังขาดคือความเท่าเทียมของการเข้าถึงแหล่งเงิน จะเห็นว่าที่ผ่านมาโอกาสมักตกเป็นของคนที่มีฐานะทางการเงินดีหรือมีธุรกิจมั่นคงมากกว่าคนไร้หลักประกัน ผมจึงวางเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์ม PeerPower ซึ่งคนขอสินเชื่อจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ส่วนนักลงทุนจะได้รับอัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจเช่นกัน มันคือความสมดุลที่ช่วยให้ธุรกิจทุกระดับอยู่รอด” วรพล พรวาณิชย์ (จิม) ผู้ก่อตั้งและ CEO บริษัทเพียร์ พาวเวอร์ จำกัด (PeerPower)
จุดเริ่มต้นของ PeerPower
“จิม” วรพล พรวาณิชย์ มีประสบการณ์ด้านตลาดเงินมายาวนานถึง 17 ปี อีกทั้งยังเป็นนักลงทุน ซึ่งเขาให้เหตุผลที่นำไอเดียการให้กู้ยืมแบบคนต่อคน (Peer to Peer Lending) เข้ามาในประเทศไทยว่าเพราะการกู้ยืมเเบบ Peer to Peer มีประสิทธิภาพในระบบเงินของประเทศสหรัฐอเมริกา และ SMEs เองมักโดนปฏิเสธการยื่นกู้จากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทำให้ SMEs มีอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเนื่องจากขาดสภาพคล่อง โดยในปี 2013 วรพลมีโอกาสได้พบกับตัวอย่างการกู้ยืมเเบบ Peer to Peer ที่อเมริกาจากนักลงทุนท่านหนึ่งเลยตัดสินใจศึกษาข้อมูลเชิงลึกอย่างจริงจังภายใต้ความเชื่อที่ว่า “การกู้ยืมเเบบ Peer to Peer มีคุณค่าและส่งผลกระทบเชิงบวกโดยตรงสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้แบบต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันผู้ขอกู้ยืมก็ต้องการเข้าถึงเเหล่งเงินทุนเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจเช่นกัน
เนื่องจากการกู้ยืมเเบบ Peer to Peer ผ่านระบบตลาดสินเชื่อออนไลน์ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการเงินในประเทศไทย ทำให้เกิดความเข้าใจและการรับรู้น้อย จากข้อจำกัดดังกล่าว PeerPower ภายใต้การดูแลของวรพล จึงมุ่งวางรากฐานด้วยการเดินหน้าให้ความรู้กับตลาดและแนะนำระบบใหม่ของเขาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใส่ในการตรวจสอบ (Transparency in Examination) และเหตุผลว่าทำไม PeerPower ถึงเป็นแพลตฟอร์มตลาดสินเชื่อออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ
และด้วยความมุ่งมั่นทำให้วรพลไม่หยุดศึกษาค้นคว้าข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยเขาพบว่าความต้องการในการเข้าถึงเเหล่งเงินทุนของกลุ่ม SMEs ที่มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 150 ล้านบาทมีจำนวนมาก นั่นเป็นเพราะพวกเขาถูกจัดให้อยู่ในประเภทบริษัทที่มีสินทรัพย์อยู่ขั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งจำแนกประเภทตามกฎเกณฑ์ของธนาคารเเห่งประเทศไทย
จากรายงานการปล่อยสินเชื่อตามสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ร้อยละ 38.4 ของจำนวนสินเชื่อที่มาจากธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดถูกปล่อยให้กับ SMEs ซึ่งมากกว่ากลุ่มองค์กรขนาดใหญ่และกลุ่มสินเชื่อรายบุคคล นับเป็นมูลค่าสูงถึง 4,253 พันล้านบาท ผลกระทบที่ตามมา ทำให้เกิดอัตราหนี้เสีย (NPLs) จากกลุ่ม SMEs สูงถึง 165 พันล้านบาท จาก 138 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.5 จาก ร้อยละ 3.1 ในท้ายปี 2557 ดังนั้นสถานการณ์นี้ทำให้ธนาคารมีรายได้ต่ำกว่าที่คาดหวังและ SMEs กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงในสายตาธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้สัญญาณของอัตราหนี้เสียเกิดผลกระทบเป็นระลอกและปรากฎใน IFIS9 (Integrated Financial Information System) ที่จะออกกฎในปี 2019 ซึ่งผู้ดูแลกฎระเบียบ (Regulators)วางแผนจะประกาศอัตราดอกเบี้ยบางรายที่สูงขึ้น ตามความเสี่ยงที่สูงขึ้นในกลุ่ม SMEs เช่นกัน และนั่นทำให้ SMEs เหลือทางเลือกน้อยลงสำหรับการเข้าถึงเเหล่งเงินทุน
จากมุมมองที่เเตกต่างของ PeerPower ทำให้ความเป็นไปได้ของระบบการกู้ยืมแบบ Peer to Peer มีโอกาสเติบโตสูงขึ้น โดยเฉพาะจากทางเลือกที่เหลือน้อยลงของ SMEs อาจเรียกได้ว่า PeerPower ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการรายได้อย่างต่อเนื่อง และผู้ขอกู้ที่ต้องการเข้าถึงเเหล่งเงินกู้ การกู้ยืมแบบ Peer to Peer สามารถเป็นไปได้อย่างเป็นระบบและใช้ได้จริงเพราะอาศัยหลักการที่มากกว่าการดูผลประกอบการ เเต่ยังต้องดูการใช้จ่าย และการชำระหนี้ในอดีตที่ผ่านมา ตลอดจนเครดิตของเจ้าของกิจการอีกด้วย ทั้งนี้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในการสร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้สำหรับทั้งสองฝ่าย
ข้อความฝากถึง Fintech รุ่นใหม่
“ไม่เพียงเเต่การหาจุดอ่อน (pain point) ในการทำธุรกิจและสร้างบริการหรือผลิตภัณฑ์เพื่อเชื่อมระหว่างกันเท่านั้น ในแง่ของฟินเทคถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเฉพาะตัวมาก เเละเกี่ยวข้องกับผู้ควบคุมกฎเกณฑ์ เศรษฐกิจมหภาค การปฏิบัติตาม และนโยบายในอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจและใช้เวลาเรียนรู้ ทั้งนี้สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ต้องมีความเข้าใจกลไกของเศรษฐกิจมหภาคจนถึงจุลภาคด้วย เราควรให้น้ำหนักและความสำคัญกับทุกกลไกอย่างเท่าๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ นโยบาย กฎเกณฑ์ เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ตลาด” กล่าวโดย วรพล พรวาณิชย์