For privacy reasons YouTube needs your permission to be loaded.
I Accept

วันนี้ OPEN-TEC มีโอกาสสนทนาแบบเป็นกันเองกับนักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยแห่งวงการฟินเทคแถวหน้าระดับเอเชีย-แปซิฟิก “ไมเคิล อะราเน็ตตา” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ (IDC Financial Insights) ด้วยสไตล์การวิเคราะห์แบบเจาะลึกในประเด็นสำคัญๆ ทั้งกลยุทธ์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร บวกกับประสบการณ์กว่า 10 ปี จึงทำให้ในแต่ละปี “อะราเน็ตตา” ได้รับเชิญพูดบนเวทีฟินเทคมาแล้วกว่า 50 ครั้ง

ด้วยบทบาทของนักวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านการเงิน ส่งผลให้อะราเน็ตตามีโอกาสทำงานใกล้ชิดกับผู้คนจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทีมนักวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกทางการเงินของ IDC ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ผู้บริหารและลูกค้าทั่วโลก รวมถึงมีส่วนร่วมกับผู้มีอำนาจตัดสินใจในสถาบันการเงินชั้นนำ

จากสถิติ…อะไรคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมฟินเทค

“Open to Collaborate คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญซึ่งผมคิดว่ามันมีหลายเหตุผลที่ควรร่วมมือกันและมีหลายสถาบันร่วมมือกันมาเเล้ว หนึ่งในเหตุผลที่ว่าคือสถาบันการเงินจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมให้รวดเร็วกว่าเดิมและนวัตกรรมนั้นหาได้จากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร ได้แก่ ฟินเทคสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งคู่เเข่ง ซึ่งปัจจุบันสถาบันการเงินกำลังมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ และเทคโนโลยีนั้นจะต้องใช้งานได้จริง พัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ถือเป็นการร่วมมือที่น่าจับตามองทีเดียว”

ไมเคิล อะราเน็ตตา กล่าวย้ำอย่างชัดเจนว่า ความร่วมมือถือเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมการเงิน โดยอยากให้ผู้อ่านคิดตามไปพร้อมๆ กันว่า หากสถาบันการเงินถือทรัพยากรที่ตนเองคิดว่าเเข็งเเกร่งอยู่เเล้วจากการทำธุรกิจในปัจจุบัน อาทิ จาก Application Programming Interface (API) , ฐานผู้ใช้งาน รวมถึงช่องทางการตลาด ฯลฯ แต่สิ่งที่มีนั้นอาจยังไม่เพียงพอ เนื่องจากลูกค้ากำลังมองหาบริการหรือโซลูชันที่ดีกว่าเดิม ใช้งานได้รวดเร็วกว่าเดิม และเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งฟินเทคสตาร์ทอัพอาจสามารถเข้ามาตอบโจทย์ดังกล่าวได้ เนื่องจากมีจุดเด่นเรื่องความคล่องตัวในการพัฒนาโซลูชันใหม่ๆ ที่รวดเร็วและมีความสามารถในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีความใกล้ชิดกับผู้ใช้งานฯลฯ ดังนั้นการผนึกกำลังหรือเกื้อกูลทรัพยากรซึ่งกันและกันของทั้งสองฝ่ายจะส่งผลดีต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมฟินเทคไทย

“Open Banking” คีย์เวิร์ดคุ้นหู ที่รอการต่อยอดเป็นรูปธรรม

บางท่านยังไม่เห็นภาพชัดว่าความร่วมมือนั้นจะประสบผลสำเร็จได้อย่างไรและความสำเร็จนั้นมันมีหน้าตาเป็นเช่นใด ในบทสัมภาษณ์นี้ อะราเน็ตตาได้ยกตัวอย่างและกรอบการทำงานไว้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวว่าความร่วมมือที่ประสบผลสำเร็จนั้นเริ่มต้นได้ด้วยการทำ Open Banking ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เเต่ ณ ปัจจุบันมีพื้นฐานมาจาก 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย

1. การแยกบริการออกจากแพ็กเกจเดิม (Unbundling) และการเลือกบางส่วนเพื่อมารวมกันในรูปแบบใหม่ (Re-bundling)
2. การให้บริการโดยบุคคลที่สาม (services offered by 3rd parties)
3. การเชื่อมบุคคลที่สาม (connections to 3rd parties) เพื่อเปิด API และเเชร์การทำงานในบางฟังก์ชัน บางแอพพลิเคชัน และข้อมูลบางชนิด เป็นต้น

“การเปิดช่องทางการเชื่อมต่อของข้อมูลถือเป็นตัวช่วยในการการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น การตั้งราคา การตลาด การกระจายสินค้าหรือบริการ การออกเครดิต การตัดสินใจที่เกี่ยวข้อง ให้กับบุคคลที่ 3 ได้ ลองนึกดูว่าเมื่อสถาบันหรือบริษัทที่ไม่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมการเงินมาก่อน สามารถช่วยเปิดบัญชี หรือสร้างการกระจายการบริการของธนาคารในสถาบัน (เราเห็นได้จากประกันภัย) หรือการใช้หลักการ credit scoring ที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้ารายบุคคลได้อีกด้วย ทั้งนี้ กรอบการทำงานนั้นขึ้นอยู่กับกลยุทธ์และการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการเริ่มต้นและการออกตัวที่มีคุณภาพของฟินเทคในประเทศไทย”

หมายเหตุ : Open Banking ได้แก่การทำ Open API โดยธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะแชร์ข้อมูลระหว่างธนาคารด้วยกัน พร้อมเปิดให้บุคคลที่ 3 อย่างผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) หรือบริษัท Fintech เข้าถึงข้อมูลลูกค้าได้ หากได้รับการยินยอมจากลูกค้า