“เราหนีไม่พ้น ถึงแม้เราจะรักเมืองไทย เป็นคนไทย แต่เรายังคงต้องติดตาม IT direction ของประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ไกลๆ การเลียนแบบคือสิ่งที่ทำได้ (we can mimic) ซึ่งผมไม่เคยเชื่อในการ reinvent the wheel (พยายามทำสิ่งที่คนอื่นคิดและทำสำเร็จไปแล้วใหม่อีกครั้ง) แต่เชื่อว่าการนำเอาความคิดที่ตกผลึกแล้วหรือสำเร็จแล้วมาแก้ไขข้อจำกัดและพัฒนาต่อยอดให้ดีกว่าเดิม ทำให้มันเข้ากับประเทศของเรา”
ถ้อยคำมุ่งมั่นของ “มาร์ค” วรดิษฐ์ วิญญรัตน์ สะท้อนแนวคิดที่ยืดหยุ่นบนพื้นฐานความเป็นจริง สำหรับคนที่อาจยังไม่คุ้นกับ วรดิษฐ์ วิญญรัตน์ เขาคือกรรมการบริหารและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.ซี.ซี. เทคโนโลยี จำกัด (ทีซีซีเทค) ผู้ให้บริการศูนย์ดาต้าเซ็นเตอร์ผสานบริการคลาวด์และโครงสร้างพื้นฐานไอทีชั้นนำของเมืองไทย โดยจำแนกบริการหลักออกเป็น 4 กลุ่ม คือ 1. บริการดาต้าเซ็นเตอร์ 2. บริการเชื่อมต่อโครงข่ายสื่อสาร 3. บริการคลาวด์ 4. บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ จะเห็นว่า core business ของทีซีซีเทคมีส่วนช่วยผู้ประกอบการไทยและกลุ่มบริษัทข้ามชาติ ให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วท่ามกลางภาวะ technology disruptive ในปัจจุบัน
1 ในกลยุทธ์ที่ “วรดิษฐ์” ใช้นำพาองค์กรก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ คือ ความต่อเนื่องในการพัฒนาขีดความสามารถการให้บริการสู่รูปแบบ Holistic Solutions ที่ครอบคลุมตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไอทีจนถึง Endpoint Solutions และ Consultancy for Business Development รวมถึงให้ความสำคัญกับคุณค่าของความเป็นกลางในการให้บริการ (Carrier Neutral Network) กล่าวคือ ทีซีซีเทคเปิดเสรีให้กับทุกภาคส่วนสามารถมีสิทธิใช้บริการได้อย่างเต็มที ไม่มีนโยบายใดกีดกัน อีกทั้งยังบูรณาการผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้รับบริการ “ทีซีซีเทคโนโลยีคือ Integrated IT infrastructure service provider ที่อาจเรียกได้เป็นต้นแบบของเครือข่ายไอทีสำหรับอนาคต ภายใต้ ecosystems ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านครอบคลุมทั้ง Data Centers ,Connectivity และ Computing Resources โดยเราไม่หยุดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า และไม่หยุดที่จะเป็นอีกหนึ่งกำลังเสริมให้กับประเทศในการพัฒนาบุคลากรคุณภาพด้านไอที”
องค์กรแกร่งเพราะคนเก่ง…และหัวใจที่เป็นหนึ่งเดียวกัน
คงปฎิเสธไม่ได้ว่า “Profit” คือเป้าหมายหลักในการดำเนินธุรกิจของหลายองค์กร และปฎิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “People” คือฟันเฟืองสำคัญที่จะนำองค์กรไปสู่เป้าหมายนั้น ตลอดระยะเวลาแห่งการพูดคุย ผู้เขียนมักได้ยิน 1 ประเด็นสำคัญที่แทรกอยู่ในบทสนทนา คือเป้าหมายเรื่องการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ล้อไปกับเทรนด์เทคโนโลยีและสอดรับกับทิศทางการเติบโตขององค์กร โดยผู้นำท่านนี้เชื่อว่า ความรู้คือทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้แต่มีค่าและยั่งยืน ซึ่งหนทางที่จะสร้างให้องค์กรแกร่งต้องเริ่มต้นจากการสร้างความเก่งให้กับบุคลากร “ผมมองว่าบุคลากรในระดับ management ของแต่ละ business unit จำเป็นต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า key skills ที่จำเป็นต่อทีมหรือภาพรวมขององค์กรคืออะไร เมื่อรู้แล้วก็หาความรู้นั้นๆ มาสร้างทักษะให้กับคนของตัวเอง สิ่งสำคัญคือ ความต่อเนื่อง การทดสอบและติดตามวัดผลลัพธ์ ว่าสิ่งที่เราเติมเต็มให้พวกเขามันเพียงพอ หรือสร้างให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งต่อตัวเขาเอง องค์กร และสังคมโดยรวมหรือไม่”
ช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้พูดคุยกับ “มาร์ค” วรดิษฐ์ วิญญรัตน์ ทำให้รู้ว่าการเป็นผู้นำนั้นไม่ใช่เพียงความสามารถในการบริหารองค์กรสู่ความสำเร็จตามเป้าประสงค์ที่วางไว้ แต่ควรให้ความสำคัญกับทุก Stakeholders ในระบบนิเวศ ยิ่งไปกว่านั้นคือการ balance ความสำคัญด้วยแนวคิดเชิงบวก เพราะคนที่คิดบวกจะมองทุกเรื่องราวอย่างมีเหตุผลและเชื่อมโยงสู่โอกาส ท้ายที่สุดนี้…ถึงแม้เนื้อหาบางวรรคตอนจะเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก กระนั้นเองผู้เขียนเชื่อมั่นว่า “ความมุ่งมั่นของผู้นำท่านนี้ จะเปลี่ยนให้เรื่องยากๆ เกิดขึ้นจริง”