Agile (อไจล์) ดูจะเป็นคำใหม่ที่หลายคนยังไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตา ซึ่ง Agile ไม่ใช่ชื่อเรียกของบุคคล สถานที่ หรือสิ่งของ แต่กลับเป็นชื่อเรียกแนวคิดหรือปรัชญา ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกมามากกว่า 10 ปี หัวใจสำคัญ คือ การทำงานที่ไม่มีรูปแบบตายตัว แต่เป็นการเรียนรู้ลองผิดลองถูกแบบมีวินัย การทดลองทำ ลดขั้นตอนการทำงาน เรียนรู้ความล้มเหลวด้วยการทำงานจริง และต้องแก้ไขให้ได้อย่างรวดเร็ว
เครดิตภาพ: https://www.pexels.com
โดยปัจจัยสำคัญแนวคิดของการพัฒนาเชิงอไจล์ (Agile Development) คือเรื่องของคน ที่มีสิทธิในการตัดสินใจ ซึ่งระบบนี้ได้รับความนิยมในบริษัท Startup โดยเฉพาะสายเทคโนโลยี เพราะว่าเป็นวงการที่เคลื่อนไหว มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ประกอบกับด้วยจำนวนคนที่มีไม่มาก และกล้าที่จะตัดสินใจมากกว่าองค์กรใหญ่ ที่มีระบบการทำงานที่ซับซ้อน
ยกตัวอย่างกรณีใกล้ตัวคนไทยจากข่าวดังระดับโลกเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย คนไทยหลายคนได้รู้จักกับ อีลอน มัสก์ มหาเศรษฐี และวิศวกรนักประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท สเปซเอ็กซ์ (Space Exploration Technologies Corporation – SpaceX) ที่ได้เสนอแนวทางการช่วยเหลือโดยการพัฒนาเรือดำน้ำจิ๋วลำเลียงผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ตัวเขาไม่เคยทำมาก่อน แต่ต่อยอดดัดแปลงจากท่อออกซิเจนเหลวของจรวดฟอลคอนที่บริษัทของเขาพัฒนา โดยกระบวนการประดิษฐ์ใช้ระยะเวลาเพียง 2-3 วัน ไม่ต้องมีกระบวนการดำเนินงานที่เป็นระบบแบบแผนขออนุญาตหลายขั้นตอน แต่ใช้วิธีการประยุกต์ ความน่าจะเป็น และทดลองทำทันที นี่แหละเรียกว่าการปฏิบัติงานด้วยระบบ Agile
เครดิตภาพ: https://twitter.com/elonmusk/media
ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)(สพร.) ให้ข้อมูลว่า บริษัทเอกชนในประเทศไทย เริ่มมีการปรับใช้ Agile กับธุรกิจกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ เทคโนโลยี เพราะกลุ่มผู้ให้บริการเหล่านี้ต้องตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด จึงต้องเริ่มทำงานให้เร็วแก้ไขข้อผิดพลาดให้ได้ เพื่อที่จะมีโอกาสโดดเด่นในอุตสาหกรรมนั้นๆ
เครดิตภาพ: สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา
ส่วนของภาครัฐหากต้องเริ่มหันมาปรับรูปแบบการคิดและทำงานแบบ Agile สิ่งที่อยากดำเนินการอย่างแรก คือ เชื่อมโยงข้อมูลประชาชน และเปิดข้อมูลภาครัฐให้ประชาชนได้รับทราบ เปิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนเข้าถึงได้ หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของนักพัฒนาที่จะนำไปต่อยอดสิ่งใหม่ได้อีก และช่วยให้ภาคเอกชน นำข้อมูลไปออกแบบการบริการ แอปพลิเคชั่น ให้ตรงกับความต้องการจริงของประชาชนได้
ตามความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เชื่อมั่นว่าที่ผ่านมาทางฝั่งรัฐบาลต่างมีความพยายามที่จะปรับตัวให้สอดรับกับการทำงานแบบ Agile แต่ด้วยโจทย์ที่ยากของการพัฒนาแต่ละกระบวนการ (process) เพื่อรองรับการทำงานที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนกว่า 66 ล้านคน ในเวลาที่รวดเร็วที่สุดและประหยัดงบประมาณมากที่สุด ทำให้เข้าใจได้ว่าการปรับตัวของภาครัฐครั้งนี้ อาจเต็มไปด้วยความท้าทายที่ต้องข้ามผ่าน
Agile เป็นแนวคิดของยุคใหม่ที่เน้นการตัดสินใจ ทำงานอย่างรวดเร็ว เน้นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่าสนใจกระบวนการทำงาน ซึ่งอาจฉีกกฎการทำงานในรูปแบบเดิมๆ ที่คนไทยคุ้นเคย แต่ถือเป็นเทรนด์แนวคิดใหม่ที่แพร่หลายในระดับสากล ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคน แต่ละองค์กรจะเอาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างไร
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)(สพร.)